รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงกรณีบริษัทผลิตเซรุ่มรายใหญ่เลิกผลิต ไม่มีผลกระทบไทย ผลิตเซรุ่มใช้เองที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มีเพียงพอ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีบริษัทผลิตเซรุ่มรายใหญ่ของโลกเลิกผลิตเซรุ่มแก้พิษงูตั้งแต่ปี 2557 ว่า กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทย ผลิตเซรุ่มแก้พิษงูใช้เอง ผลิตจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ป้องกันพิษงูได้ 7 ชนิด จึงขอให้ประชาชนไทยมั่นใจได้ว่าเซรุ่มในประเทศไทยมีใช้เพียงพอ ขณะนี้มีสำรองไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน
 
ทั้งนี้สถิติการถูกงูพิษกัดย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 ของประเทศไทย พบปีละประมาณ 6,400 คน โดยในช่วง 3 ปีมานี้ มีแนวโน้มลดลง และล่าสุด ในปี 2557 มีผู้ถูกงูกัด 1,219 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเข้าถึงบริการและได้รับเซรุ่มอย่างรวดเร็ว เซรุ่มที่ใช้จะใช้ตามลักษณะงูพิษแต่ละชนิดที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ พิษต่อระบบประสาท พิษต่อระบบโลหิต พิษต่อระบบกล้ามเนื้อ งูพิษที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ ร้อยละ 10 งูกะปะ ร้อยละ 8 งูเห่าร้อยละ 4
 
ทางด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในการผลิตเซรุ่มในประเทศไทยในส่วนขององค์การเภสัชกรรม ได้จัดเตรียมวัตถุดิบกึ่งสำเร็จในการผลิตเซรุ่ม 3 ชนิด คือ เซรุ่มแก้พิษงูเห่า งูกะปะ งูแมวเซา โดยในส่วนของสภากาชาดไทยดำเนินการผลิตเซรุ่ม ตามงูพิษที่พบประจำถิ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เซรุ่มพิษงูที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งมี 4 ชนิด ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และเซรุ่มแก้พิษงูที่ทำลายระบบโลหิต 3 ชนิด ได้แก่ งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา
 
************************* 8 กันยายน 2558


   
   


View 17    08/09/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ