วันนี้ (5 สิงหาคม 2558) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ   ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 “สุขภาพผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน 2015” เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่าย บุคลากรจากสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ และประชาชน ให้มีความรู้  ความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน

          ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ  กล่าว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึง  ซึ่งอัตราการเพิ่มของประชากรสูงอายุของประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 10 ล้านกว่าคน หรือเกือบร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ กว่าครึ่งอยู่ในชนบท คาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มเป็นร้อยละ20 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และอีก 20 ปีประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือปีละประมาณ 6 แสนคน และเป็น“สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” จากการสำรวจมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพดี ที่เหลือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง มากที่สุดร้อยละ 41 รองลงมาคือโรคเบาหวาน ร้อยละ 18  โรคเข่าเสื่อมร้อยละ 9 พิการร้อยละ 6 ป่วยติดเตียงช่วยเหลือตนเองไม่ได้ร้อยละ 1 หรือประมาณ 1 แสนคน มีร้อยละ 13 ที่ป่วยทั้งความดันโลหิตสูงและเบาหวาน และมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ล้านคน อยู่คนเดียวตามลำพัง
            ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มวางระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและชุมชนอย่างอบอุ่น ได้รับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ในปี 2558 นี้กระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการ ตรวจคัดกรอง/บริการทันตกรรมแก่ผู้สูงอายุ จัดทำฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทาน และฝังรากฟันเทียมให้ฟรี เนื่องจากผลการสำรวจพบผู้สูงอายุมีปัญหาไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร ประมาณ 250,000 คน จัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงโดยฝึกอบรมผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ หรือแคร์ เมนเนเจอร์(care manager) เบื้องต้นอบรมไปแล้ว 909 คน และฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หรือ แคร์ กีฟเวอร์ (care giver) อบรมไปแล้ว 4,022 คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของทีมหมอครอบครัว เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะพึ่งพิง รวมทั้งผู้พิการ โดย    แคร์ เมนเนเจอร์  1 คนต่อแคร์ กีฟเวอร์ 5-7 คน      และ แคร์ กีฟเวอร์ 1 คนดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง   
5-7 คน ซึ่งขณะนี้สามารถประเมินคัดกรองดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 6,394,022 คน  ครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้พิการมากกว่า 32,000 คน
 
       ที่สำคัญคือได้จัดทีมหมอครอบครัว ที่ประกอบด้วยสหวิชาชีพ ให้การดูแลประชาชนทุกหลังคาเรือน ทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท ทุกครอบครัวจะมีหมอดูแลประจำ จะทำหน้าที่สนับสนุน สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคประชาชนทุกกลุ่มวัย เยี่ยมบ้าน จัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และการส่งต่อเพื่อการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี  เข้าถึงบริการอย่างถ้วนหน้า และเท่าเทียม
 ************************* 5 สิงหาคม 2558


   
   


View 14    05/08/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ