กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษในจังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  โดยติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด  แนะควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดเวลาเล่นน้ำทะเล หากโดนแมงกะพรุนพิษ ให้รีบขึ้นจากน้ำ และใช้น้ำส้มสายชูราดบนผิวหนังที่ถูกพิษทันที   

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค  เปิดเผยว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษขณะเล่นน้ำทะเล เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนกว่า 900 ราย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะมีไม่มาก แต่มีความเป็นห่วงประชาชนและนักท่องเที่ยวอาจได้รับบาดเจ็บได้ จึงมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การวินิจฉัย และการรักษาผู้บาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน 
 
นายแพทย์โสภณ  กล่าวต่อว่า ชายทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน พบทั้งแมงกะพรุนที่ไม่มีพิษหรือมีพิษน้อย เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่อง และแมงกะพรุนไฟที่ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ถูกสัมผัส ส่วนแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงได้แก่ แมงกะพรุนกล่องซึ่งมีหลายชนิด  มีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส มีสีน้ำเงินจางๆ หรือไม่มีสี จึงสังเกตได้ยากเมื่ออยู่น้ำทะเล มีขนาดแตกต่างกัน อาจกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกออกเป็นสายหนวด โดยแต่ละขาอาจมีหนวดยาวตั้งแต่ 1 – 15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร โดยจะมีเข็มพิษอยู่ในถุงพิษที่กระจายอยู่ทุกส่วนของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะที่หนวด
 
ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ จะเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสอย่างรุนแรงทันทีทันใด  เกิดรอยไหม้ที่ผิวหนัง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการสับสน หมดความรู้สึก โคม่า และเสียชีวิตซึ่งมักเกิดภายใน 10 นาที เนื่องจากพิษมีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 นาที มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต และหยุดหายใจ และมีพิษต่อผิวหนัง
 
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมมือในการศึกษาการแพร่กระจายและเฝ้าระวังการระบาดของแมงกะพรุนพิษ รวมถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมกับแพทย์ฉุกเฉินและนักชีววิทยาด้วย  และจัดระบบเฝ้าระวังติดตามพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด เพื่อใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน และติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุนในบางพื้นที่ขณะนี้ได้จัดตั้งจุดปฐมพยาบาลแมงกะพรุนพิษ ประมาณ 67 จุด ใน 9 จังหวัด เช่น ระนอง ตราด ระยอง พังงา ตรัง ภูเก็ต กระบี่ สตูล และจันทบุรี
 
ในการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงเล่นน้ำทะเล ไม่ควรเล่นน้ำนอกตาข่ายในทะเล หากสัมผัสแมงกะพรุนพิษ ให้รีบขึ้นจากน้ำ แล้วใช้ส้มสายชู ราดให้ทั่วบริเวณที่สัมผัสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที ฤทธิ์ของน้ำส้มสายชูจะทำลายพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ หากหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ อาจใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่ประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่ากับน้ำส้มสายชู ห้ามขัดถู บริเวณที่ถูกแมงกะพรุนโดยเด็ดขาด และโทรเรียกรถพยาบาล ไม่ควรให้ผู้ป่วยขยับตัว เพื่อป้องกันการกระทบแผล 

************************* 3 สิงหาคม 2558
 


   
   


View 14    03/08/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ