รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เผยกระทรวงสาธารณสุขของไทย วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลและสถานีอนามัยตามแนวชายแดนให้เมียนมาร์ 5 แห่ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และภายหลังศึกษาดูงานระบบบริการที่โรงพยาบาลแม่จันและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระราชทาน จ.เชียงราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ชื่นชมในระบบบริการสุขภาพของไทยและขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลประชาชนเมียนมาร์ที่เจ็บป่วยเป็นอย่างดี

   

บ่ายวันนี้ (23 กรกฎาคม 2558) ที่ จ.เชียงราย ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย พร้อมด้วยนายแพทย์ธาน อุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ (H.E. Dr.Than Aung) และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลแม่จัน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระราชทาน ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อดูการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่มีความเชื่อมโยงในระดับชุมชนและจังหวัด

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า  กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้วางแผนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ ที่จะพัฒนาโรงพยาบาลและสถานีอนามัยตามแนวชายแดนในประเทศเมียนมาร์ 5 แห่ง ภายใน 2 ปี  โดยจะเลือกพื้นที่ที่ห่างไกลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขยากลำบาก ส่วนที่ทางการเมียนมาร์ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนงานการจัดตั้งโรงพยาบาลในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นั้นอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและเมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรสาขาต่างๆ เช่น พยาบาลชุมชน  นักระบาดวิทยา การวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ การเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อข้ามแดน และการจัดบริการตามแนวชายแดน

ในการประชุมความร่วมมือครั้งนี้ ไทยจัดพื้นที่ดูงานศึกษาการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขแบบเครือข่ายไร้รอยต่อที่โรงพยาบาลแม่จัน ซึ่งเป็นแม่ข่ายให้โรงพยาบาลอำเภอแม่ฟ้าหลวง ดอยหลวง เชียงแสน และเวียงเชียงรุ้ง บริหารแบบเครือข่ายเชื่อมโยง กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่  47 แห่ง ใช้คน เงิน ของร่วมกัน เชื่อมโยงบริการไร้รอยต่อ ผู้มารับบริการไม่ต้องกังวลเรื่องส่งต่อต่อปีมีชาวต่างชาติอาทิ เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาเข้ารับการรักษากว่า 4,000 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นชาวเมียนมาร์ ส่วนใหญ่เพื่อฝากครรภ์ และคลอดปีละ 200 ราย รองลงมาคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เบาหวาน ส่วนใหญ่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ 

   

ส่วนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระราชทาน ต.ป่าซาง มีจุดเด่นที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชน และออกเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมหมอครอบครัว ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและครอบคลุม ทั้งสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะนี้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 4,000 คน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จิตเวช โรคเรื้อรัง เป็นต้น 

ทั้งนี้ ได้รับความสนใจและชื่นชมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์เป็นอย่างมาก ที่ไทยสามารถจัดระบบบริการได้ครอบคลุม พร้อมขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลประชาชนชาวเมียนมาร์ที่เจ็บป่วยเป็นอย่างดี  และจะนำรูปแบบของไทยไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบบริการของเมียนมาร์ต่อไป      

***************** 23 กรกฏาคม 2558



   
   


View 18    23/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ