กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการ การพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558วันที่ 22–24 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ผลในรอบ 25 ปี สุขภาพแม่และเด็กไทยถิ่นทุรกันดารดีขึ้น นักเรียนป่วยคอพอกลด 44 เท่า เด็กน้ำหนักตัวน้อยลดกว่าครึ่ง
 
วันนี้ (16 กรกฎาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายแพทย์ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ แถลงข่าวการประชุมวิชาการ การพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6“สุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 5รอบ” ระหว่างวันที่ 22–24 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และให้บุคลากรการแพทย์นำเสนอผลงานการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เวลา 17.00 น.
 
 ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยในสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยจัดโครงการแก้ไขปัญหาและบริการส่งเสริมสุขภาพที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการ บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย ประกอบด้วย 1.โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอพอก ไอคิวต่ำ ในปี 2533 สนับสนุนการใช้น้ำเสริมไอโอดีน เกลือเสริมไอโอดีน ตรวจคอพอกและให้ความรู้โรคขาดสารไอโอดีน ทำให้ปัญหาคอพอกในนักเรียนลดลง 44 เท่าตัวจากร้อยละ 22 ในปี 2535 เหลือร้อยละ 0.5 ในปี2554 2.โครงการส่งเสริมโภชนาการและบริการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร ในปี 2539 อัตราตายทารกและทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ลดลงกว่าร้อยละ 50
 
3.โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริพระองค์ท่าน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ในเรื่องโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร สุขอนามัย ทันตสุขภาพ การออกกำลังกาย น้ำบริโภค ส้วม และจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ส่งผลให้สุขภาพของเด็กและเยาวชนในพื้นที่โครงการพระราชดำริดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังมีบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านโภชนาการและสุขภาพ โดยผลสำรวจสุขภาพปี 2556 ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พบเด็กเล็กเตี้ยร้อยละ 10 และเด็กประถมเตี้ยร้อยละ 9 มีเหาร้อยละ 20 ไม่ได้กินยาวิตามินเสริมธาตุเหล็กร้อยละ 36 ฟันแท้ผุ ถอน อุดร้อยละ 46  ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมมีสามเณรเตี้ยร้อยละ 7 อ้วนร้อยละ 14 ฟันแท้ผุ ถอน อุดร้อยละ 60 ส่วนในศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) พบปัญหาการเข้าถึงบริการด้านอนามัยแม่และเด็ก มีแม่อายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 20 ไม่มาฝากครรภ์ร้อยละ 57 คลอดกับหมอตำแยร้อยละ 72 โดยกรมอนามัยได้จัดอบรมครูและนักเรียนเรื่องอาหาร โภชนาการ สร้างพฤติกรรมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ศศช. และจัดอบรมถวายความรู้แก่พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง สามเณรแกนนำในโรงเรียนพระปริยัติธรรม รวมทั้งพัฒนาให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับที่สูงขึ้น                                                                                                       
 
4.โครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ.2557-2558 สร้างและปรับปรุงส้วมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริฯ ให้ได้มาตรฐาน สำเร็จแล้ว 81 แห่ง จำนวนกว่า 600 ส้วม ได้แก่ รร.ตำรวจตระเวนชายแดน 49 แห่ง รร.พระปริยัติธรรมจำนวน 10 แห่งรร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม 11 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง 10 แห่ง และรร.สังกัดอบจ.ระนอง 1 แห่ง จะขยายโครงการต่อระยะที่ 2 ปี 2558 – 2559 ในโรงเรียนเป้าหมายตามพระราชดำริฯ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารอีก 60 แห่งใน 28 จังหวัด เพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กและประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารให้มีสุขภาพดี  มีส้วมใช้และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
 
ด้านนายแพทย์ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ในการประชุม มีการนำเสนอผลงานเด่นการแก้ไขปัญหาอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริ ภายใต้แนวคิด วิถีเด็กไทยอนามัยดี สมองดีมีสุข แบ่งเป็น 3 ห้อง ห้องที่ 1 ด้านการส่งเสริมสุขภาพ อาทิ SMARTMONK กินดีมีสุข เติบโตสมวัย, สุขอนามัยเด็กไทยมุสลิม, คัดกรองสุขภาพนักเรียน ตชด. สมรรถภาพทางกายวิถีสมณสารูป, ดี เก่ง สุข รุกเด็ก ตชด. ห้องที่ 2 ด้านบริบทแวดล้อมต่อการส่งเสริมสุขภาพอาทิ สุขศึกษาพัฒนาอนามัยส่วนบุคคลสามเณร, สุขภาพนักเรียน ตชด., บริการสุขภาพอำเภอใส่ใจอนามัยเด็กวัยเรียน และห้องที่ 3 เป็นการเสนอผลงานของเครือข่ายสุขภาพและการแสดงนิทรรศการ “สุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ” ที่เป็นผลงานเด่นอาทิ สถานการณ์สุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ส้วมสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ อนามัยสามเณรน้อย สุขอนามัยเด็ก ตชด. เป็นต้น ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ได้
 
ทั้งนี้ จะมีพิธีพระราชทานประกาศเกียรติคุณ รวม 83 ราย ประกอบด้วย โล่รางวัล Princess Health Award แก่ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ทันตแพทย์ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข็มเชิดชูเกียรติ ชั้นที่ 1 แก่ผู้ปฏิบัติงานในโครงการพระราชดำริ 14 ราย เข็มที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา 23ราย และโล่เกียรติคุณสุดยอดโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร 45 แห่งด้วย
 
*********************************** 16 กรกฎาคม 2558


   
   


View 14    16/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ