กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชนชนระวังไข้เลือดออกช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคมยย  เป็นฤดูกาลระบาดจำนวนผู้ป่วยจะสูงที่สุด ขอความร่วมมือประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลายในและรอบบ้านเรือนทุก 7 วัน ในรอบ 6 เดือนนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 2หมื่นราย เสียชีวิต 17ราย ย้ำห้ามกินยาลดไข้ประเภทแอสไพริน หรือยาไอบูโปรเฟน จะเพิ่มความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตหากอาการไม่ดีขึ้นใน2วัน ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือปรึกษา สายด่วน 1422

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ โรคไข้เลือดออกมักแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากยุงลาย มีจำนวนชุกชุมกว่าฤดูอื่น ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 24,742 ราย เสียชีวิต 17 ราย พบได้ทุกวัย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 10-24 ปี เกือบครึ่งเป็นนักเรียน จังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ ระยอง ตราด อ่างทอง เพชรบุรี และกระบี่ คาดการณ์ว่า แนวโน้มในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดและสูงที่สุดในรอบปี เพิ่มจากเฉลี่ยประมาณ 4,000 รายต่อเดือน เป็นเดือนละ10,000-13,000ราย ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ ขอความร่วมมือประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลายในสถานที่ทุกแห่งตั้งแต่บ้าน ศาสนสถาน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก สถานที่ทำงานต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาล ทุก 7 วัน เพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรค และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุดยย ย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาเฉพาะจึงต้องรักษาตามอาการ คือ ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และป้องกันอาการช็อก และแก้ปัญหาเลือดออกในอวัยวะต่างๆ อาการไข้เลือดออกได้แก่ ไข้สูงปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือเจ็บที่ชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากไข้เป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกด้วย หากกินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ขอให้คิดถึงโรคนี้และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการ ไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แพทย์จะแนะนำให้พักฟื้นที่บ้านเมื่อไข้ลดลง อาการผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติคือ ซึมลง กินดื่มไม่ได้ มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้องยย  ในช่วงไข้ลดแล้ว ขอให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจมีอาการช็อกและเสี่ยงเสียชีวิตได้

“ข้อที่ควรระมัดระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูงทุกคน แนะนำให้กินพาราเซตามอล หรือกินยาตามที่ แพทย์สั่ง ห้ามซื้อยาแอสไพรินหรือไอบรูโปรเฟนมากิน เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อาจทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในง่ายขึ้น มีอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวต่ออีกว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะนำโรคสู่คน มักออกหากินในช่วงเวลากลางวัน ยุงชนิดนี้จะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง นิ่ง ใส และสะอาด ไข่ยุงลายทนแล้งได้เป็นปี เมื่อได้รับน้ำฝนที่ตกมาหรือน้ำขัง ไข่จะแตกตัวเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในครึ่งชั่วโมง แล้วเติบโตกลายเป็นยุงลาย ใน 7 วันเมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น โอกาสความเสี่ยงประชาชนจะป่วยเป็นไข้เลือดออก ก็มีมากขึ้นเช่นกัน วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลดีที่สุดคือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และทำลายลูกน้ำยุงลายไม่ให้มีโอกาสโตเป็นยุงบินได้ โดยยึดหลัก “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย”โดยเก็บกวาดบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง โล่ง ปิดภาชนะเก็บน้ำกินน้ำใช้ให้สนิทมิด ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และเก็บขยะเศษภาชนะรอบๆบ้านและชุมชนไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงลายวางไข่

************************ 12 กรกฎาคม 2558



   
   


View 20    12/07/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ