กระทรวงสาธารณสุข นำยาเสพติดให้โทษของกลางและกัญชาของกลางจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมน้ำหนักกว่า 9,468 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 22,339 ล้านบาท เผาทำลายเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เผยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2558 บำบัดผู้เสพยาเสพติดได้ 144,479 คน คิดเป็นร้อยละ 65.67 ของเป้าหมาย 

      วันนี้ (26 มิถุนายน 2558) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน       จ.พระนครศรีอยุธยา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิถุนายน 2558 โดยมี ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์บุญชัย  สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา ทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน    
          โดยมีปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่จะเผาทำลาย จำนวนกว่า 7,340 กิโลกรัม จาก 5,508 คดี ได้แก่ 1.เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ประมาณ 66 ล้านเม็ด น้ำหนักกว่า 5,958 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 19,862 ล้านบาท 2.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 798 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,996 ล้านบาท 3.เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 418 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 335 ล้านบาท 4.โคคาอีน น้ำหนักกว่า 35 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 115 ล้านบาท        5.เอ็กซ์ตาซี่หรือยาอี ประมาณ 27,000 เม็ด น้ำหนักกว่า 6 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ  24 ล้านบาท 6.ฝิ่น น้ำหนักกว่า 18 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 6 แสนบาท และ7.อื่น ๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 22,334 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา กว่า 2,128 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท 
 
ของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลาย ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรม บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมากไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายหลังเผาทำลายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตัวอย่างเถ้าในเตาเผา เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่ามียาเสพติดเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจหลังการเผาทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่พบสารเสพติดเหลืออยู่ในขี้เถ้าของกลางแต่อย่างใด
 
ด้าน ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด กว่า 800 แห่ง เร่งรัดดำเนินการ โดยใช้ระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานสากล เช่น ระบบแมตทริกซ์ (Matrix) บำบัดได้ทั้งกาย จิต และสังคม ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ใช้เวลาในการบำบัด 1-4 เดือน ผู้บำบัดสามารถอยู่ในชุมชนได้ โดยการบำบัดผู้เสพยาเสพติดมี 3 ระบบ คือระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ ผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในปีงบประมาณ 2557 นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาได้ 359,399 คน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน 
 
ในปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าบำบัดและฟื้นฟูทั้ง 3 ระบบรวม  220,000 คน และให้ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดในปี 2557-2558 จำนวน 230,000 คน ในรอบ 9 เดือนปีงบประมาณ 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-31 พฤษภาคม  2558 มีผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศรวม 144,479 คน เป็นผู้บำบัดโดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 73,896 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 57,678 คน และในระบบต้องโทษ 12,905 คน กลุ่มผู้เสพยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 33.31 เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15-24  ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ว่างงานและเกษตรกร โดยผู้เข้าบำบัดเป็นรายใหม่ร้อยละ 68.19 โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 61.07 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 36.09 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 2.89 ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ยาบ้าร้อยละ 79.62  กัญชาร้อยละ 6.15 และยาไอซ์ร้อยละ 4.35 ลักษณะการใช้ยาเสพติดของผู้เข้ารับการบำบัดรักษา  ส่วนใหญ่จะใช้ยาเสพติดชนิดเดียวมากกว่าร้อยละ 60 
 ***********************   26 มิถุนายน 2558


   
   


View 17    26/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ