กระทรวงสาธารณสุขรอมติ คปร. และครม.บรรจุข้าราชใหม่รอบ 3 พร้อมขอผ่อนผัน กพ.ใช้เกณฑ์เดิมบรรจุนักวิชาการสาธารณสุขและเจ้าพนักงานสาธารณสุข  ส่วนที่เหลือจากการบรรจุรอบนี้ วางแผน 2 แนวทาง โดยทยอยบรรจุในอัตราว่างเกษียณทุกสายงาน และเตรียมหารือ กพ. ในอนาคตหากต้องสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขขอสอบภาค ก.เอง เพื่อให้ได้ข้าราชการที่ตรงตามความต้องการของกระทรวงฯ และลักษณะการปฏิบัติงานในการดูแลประชาชน

     วันนี้ (17 มิถุนายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังปัญหาและความต้องการจากชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการบรรจุข้าราชการใหม่ รอบ 3 ในปีงบประมาณ 2558 และการพัฒนาบุคลากร โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเข้าร่วมรับฟัง ว่า ในวันนี้ ได้รับฟังข้อกังวล และทำความเข้าใจในประเด็นที่ตัวแทนสหวิชาชีพ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข สอบถามใน 4 ประเด็น คือ 1.กรณีที่ กพ. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ได้ทำหนังสือยืนยันขอผ่อนผันให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมในการบรรจุข้าราชการใหม่รอบที่ 3 นี้ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการของ กพ. ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้เสนอเพิ่มเติมด้วย

     2.ความคืบหน้าการบรรจุข้าราชการรอบ 3 จำนวน 7,547 อัตรา จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมติที่คณะรัฐมนตรีกำหนดครบทุกข้อ คาดว่าน่าจะได้รับความเห็นชอบจาก คปร. ก่อนนำเสนอเข้า ครม.  3.ทิศทางการพัฒนาบุคลากร ให้สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ผลิตบุคลากรเพื่อคนในพื้นที่ โดยจะลดการผลิตหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตลง  เน้นการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งขณะนี้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ มีการผลิตหลักสูตรนี้ปีละกว่า 10,000 คน ขณะที่มีความต้องการประมาณ 2,000 คนต่อปี  และจะผลิตเพิ่มในสายวิชาชีพอื่นที่ยังขาดแคลน รวมทั้งจะประสานเชิงนโยบายกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ในการจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข

     และ4.การพัฒนาบุคลากรสายเจ้าพนักงานสาธารณสุขให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสหวิชาชีพ 14 สายงาน จัดทำเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่งระดับอาวุโส โดยเทียบเคียงกับวิชาชีพต่างๆ หรือกรณีการศึกษาต่อวิชาชีพอื่นๆ ที่ขาดแคลน เช่น พยาบาล โดยจะให้ สบช.ศึกษาและวางแผนจัดทำหลักสูตรต่อเนื่องให้มีความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพด้วย

     สำหรับนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ที่ไม่ได้รับการบรรจุในรอบที่ 3 ได้วางแผนดำเนินการใน 2 แนวทาง คือการจัดสรรและทยอยบรรจุในอัตราว่างจากการเกษียณอายุ การลาออกทุกสายงาน ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีประมาณปีละ 1,300 คน และตำแหน่งที่ได้รับเพิ่มใหม่ เตรียมหารือ กพ. ในอนาคตหากต้องสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ จะขออนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสอบภาค ก.เอง เพื่อให้ได้ข้าราชการที่ตรงตามความต้องการของกระทรวงฯ และลักษณะการปฏิบัติงานในการดูแลประชาชน นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวในตอนท้าย    

**********************  17 มิถุนายน 2558



   
   


View 16    17/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ