“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 419 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมอร์ส-โควี อย่างต่อเนื่อง เน้นในกลุ่มที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง สถานการณ์เฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2558 องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วย 29 ราย เสียชีวิต 4 ราย ใน 5 ประเทศส่วนไทยผลการเฝ้าระวังรอบ 3 ปี ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้
จากกรณีกระทรวงสาธารณสุขประเทศเกาหลีใต้ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมอร์ส –โควี 3 รายแรก เป็นชาย อายุ 68 ปี และหญิง ซึ่งเป็นภรรยาอายุ 76 ปี ดูแลสามีขณะป่วย โดยสามีป่วยมีไข้สูง และไอ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 หลังมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 58 ผลการตรวจยืนยันพบติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2012 ส่วนรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ร่วมห้องกับผู้ป่วยรายแรก ทั้งหมดขณะนี้รักษาตัวในห้องแยกโรคในโรงพยาบาล ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไปถึง 10 ราย ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายแรก บางรายมีการเดินทางต่อไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกและทางการเกาหลีใต้ กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียด
ในส่วนประเทศไทย นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังโรคเมอร์ส–โควี หลังจากเริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยในแถบตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยก็ตาม จะยังคงมาตรการอย่างต่อเนื่อง 3 เรื่องคือ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วย เน้นกลุ่มที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หากพบผู้ป่วยที่มีอาการที่กล่าวมา ขอให้จัดไว้อยู่ในข่ายสงสัย และปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส
2.ให้กรมควบคุมโรควางแผนการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประจำปี 2558 จำนวน 10,400 คน ซึ่งจะเริ่มเดินทางช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2558 ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมสุขภาพก่อนเดินทาง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนด คือวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นทุกคน จัดระบบติดตามเฝ้าระวังสุขภาพหลังเดินทางกลับ และ 3. จัดทำคำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงด้วย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 เป็น สาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อกันจากการไอจาม องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคในปี 2558 ในเดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วย 29 ราย เสียชีวิต 4 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต กาตาร์ อิหร่าน และเกาหลีใต้ โดย ผู้ป่วย 3 รายล่าสุดพบที่ประเทศเกาหลีใต้ รวมยอดสะสมตั้งแต่พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 พบผู้ป่วยยืนยันรวม 1,139 ราย ใน 24 ประเทศ เสียชีวิต 431 ราย และขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วย
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2012 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ยังคงเป็นการระบาดเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายแรกคนเดียวกัน และทางการของประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งต้นทางคือเกาหลีใต้ และประเทศจีนที่พบผู้เดินทางเป็นผู้สัมผัสโรค ได้มีมาตรการเข้มงวดโดยการกักกันผู้สัมผัสโรค ดังนั้นโอกาสที่จะมาสู่ประเทศไทยจากกรณีเกาหลีใต้ดังกล่าว ยังมีน้อย อย่างไรก็ตาม ไทยเรายังคงมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางไปมาระหว่างประเทศที่มีการระบาด ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนที่มีแผนการเดินทางไปประเทศตะวันออกกลาง ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งสาธารณะต่างๆ เช่นปุ่มลิฟท์ ราวบันไดเลื่อน ลูกบิดประตู และหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอูฐ และให้หลีกเลี่ยงดื่มนมอูฐดิบ
หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดคือ ไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย เพื่อผลในการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคเบาหวาน ไตวาย โรคปอดเรื้อรัง และผู้ที่ มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ประชาชนโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
******************* มิถุนายน 2558