กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตาบอดจากต้อกระจกภายใต้คำขวัญ “รวมใจ..ไร้ตาบอดจากต้อกระจก 2560” ตั้งเป้าขจัดตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทยในปี2560 ภายใน 3 เดือนนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, อสม.และสมาชิกสมัชชาสุขภาพในพื้นที่จะค้นหา และช่วยเหลือนำผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกที่ตกค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 70,000 ราย ขึ้นทะเบียนเพื่อรับการผ่าตัดโดยเร็ว

          วันนี้ (29 พฤษภาคม 2558) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว ดำเนินการแก้ไขปัญหาตาบอดจากต้อกระจกภายใต้คำขวัญ “รวมใจ..ไร้ตาบอดจากต้อกระจก 2560” มีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดภาวะตาบอดจากต้อกระจกแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2560 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน

นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผลสำรวจภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางปี 2556 โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ กรมการแพทย์ พบคนไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีความชุกตาบอดร้อยละ 0.6 สาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากต้อกระจกร้อยละ 70 คาดว่ามีจำนวนตาบอดจากต้อกระจก(Blinding Cataract)ตกค้างไม่ต่ำกว่า70,000ราย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความลำบากในการดำรงชีวิต เสี่ยงภาวะข้างเคียง เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ฯลฯ ที่อาจตาบอดถาวรได้ หากไม่ได้รับการรักษา ทั้งนี้สาเหตุที่มีผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ ไม่รู้ว่าปล่อยไว้ตาจะบอดถาวร กลัวการรักษา กลัวจะไม่มีค่ารักษา มีความลำบากในการเดินทาง จึงได้ทำโครงการแก้ไขปัญหาตาบอดจากต้อกระจก เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ปรับกระบวนการทำงาน เน้นคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในชุมชนในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2558 เน้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่ตาบอดจากต้อกระจกทุกสิทธิ์ ขึ้นทะเบียนและรอผ่าตัดโดยเร็ว (Fast Track)หากพื้นที่ใดมีผู้ป่วยจำนวนมาก จะมีทีมเสริมจากทุกภาคส่วนมาช่วย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถบริหารทั้งคน เงิน ของได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเท่าเทียมกันทางด้านบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ด้านจักษุของแต่ละพื้นที่

จึงขอเชิญชวนผู้ที่สายตาพร่ามัวลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมองไม่เห็น เข้ารับการตรวจคัดกรองโดยผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หากพบเป็นตาบอดจากต้อกระจก จะได้รับการผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นและมีความสุข

 

ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากความร่วมมือของกรมการแพทย์และคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาตาในการดำเนินงานโครงการ สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชันตั้งเป้าผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอด 60,000 ราย ภายใน 1 ปี เป็นหนึ่งในโครงการของขวัญปีใหม่ 2558 ที่รัฐบาลมอบคืนความสุขให้ประชาชน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557-เดือนมีนาคม 2558 พบว่ามีการผ่าตัดต้อกระจกในผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 70,010 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นต้อกระจกชนิดบอด 25,732 ราย คิดเป็นร้อยละ 36 นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดในผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม  สิทธิราชการ และในโรงพยาบาลเอกชน อีกประมาณ 10,000 ราย รวมมีการผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดรวมทั่วประเทศ แล้วประมาณ 35,000 ราย คาดว่าเมื่อสิ้นปีจะได้ผลตามเป้าหรือเกินเป้าจากความร่วมมือของทุกฝ่าย   

                                                                                                         

ทั้งนี้ กรมการแพทย์พร้อมให้การสนับสนุนการค้นหาต้อกระจกชนิดบอดในชุมชน (Active case finding) โดยฝึกอบรม เพิ่มพูนทักษะความรู้การคัดกรองสายตาอย่างง่ายๆ ด้วยอักษรตัวอี ให้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.เพื่อให้สามารถนำไปใช้คัดกรองสายตาประชาชนเบื้องต้นในระดับชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ให้ครอบคลุม และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยยากไร้ รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ให้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพทางด้านจักษุวิทยามากขึ้นโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน สำหรับความพิการทางสายตามาจากหลายสาเหตุ เป็นภาวะที่ป้องกันและรักษาได้ เช่น ต้อกระจก สายตาผิดปกติ ตาพิการจากเบาหวาน ตาพิการในเด็ก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อกระจก เป็นปัญหาสำคัญด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคม ป้องกันได้ยากเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย สายตาพิการจากต้อกระจกสามารถแก้ไขให้หายได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา ซึ่งมีผลให้เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดการเกิดอุบัติเหตุลดภาระการเป็นผู้พึ่งพิงในวัยสูงอายุ และลดภาระงานของผู้ให้การดูแล  

  **************************  29 พฤษภาคม 2558

 

       


   
   


View 19    03/06/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ