รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเพิ่มหน่วยบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกภายนอกโรงพยาบาลแทน รายใดอาการรุนแรง จะใช้ระบบการส่งต่อรักษากับหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลใหญ่ ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ30 ภายใน 4 ปี เริ่มจังหวัดแรกที่โคราชวันที่ 1 ส.ค.2550 นี้
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดูความพร้อมในการปรับรูปแบบบริการประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งขณะนี้มีคนป่วยใช้บริการวันละมากกว่า 2,000 คน จุดที่แออัดที่สุดคือแผนกผู้ป่วยนอก ทำให้คุณภาพภาพการรักษาพยาบาลลดลง จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นจุดรองรับการรักษาผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงร่วมด้วย
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ในการพัฒนาดังกล่าวจะลดแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลใหญ่ให้น้อยลง และเพิ่มบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงในหน่วยบริการใหม่ ซึ่งเป็นในลักษณะของโรงพยาบาลสาขาแทนมีแพทย์ทุกสาขาตรวจรักษา ผู้ป่วยรายใดที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะใช้ระบบการส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลใหญ่เป็นศูนย์กลางรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซับซ้อนโดยเฉพาะได้เต็มที่ จะส่งผลดีต่อประชาชนโดยตรง สามารถรักษาอยู่ใกล้บ้าน โดยตั้งเป้าดำเนินการให้ได้ร้อยละ 30 ภายในพศ.2554 จะเริ่มที่โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนคราชสีมาเป็นแห่งแรก เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยนอกใช้บริการแออัดมาก วันละเกือบ 3,000 ราย ได้ประชุมผู้บริหารในจังหวัดเพื่อวางแผนจัดบริการให้เป็นขั้นตอนร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว
ทางด้านนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมากล่าวว่า ในการลดความแออัดโรงพยาบาลมหาราชไว้ ได้วางแผนพัฒนาไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเพิ่มและเสริมสร้างศักยภาพของโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง สามารถให้การตรวจรักษาโรคทั่วๆไป ได้แก่ โรงพยาบาลโคราชเมมโมเรียล โรงพยาบาลเดอะโกลเดนเกท โรงพยาบาลค่ายสุรนารี โรงพยาบลาลส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลขามทะเลสอ และส่วนที่ 2 คือการเปิดโรงพยาบาลใหม่เพิ่ม 2 แห่งได้แก่โรงพยาบาลหัวทะเล และโรงพยาบาลเทศบาลนคร นครราชสีมา ลงทุนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มแรกจะมีเตียงร้องรับได้ 60 เตียงก่อน และจะขยายเพิ่มขึ้นต่อๆไป
โรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งนี้ จะมีบริการมาตรฐานเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป คือมีแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติกรรม ศัลยกรรมทั่วไป ศัลกรรมกระดูก อายุรกรรม กุมารเวชกรรม แพทย์หูคอ ตา จมูก สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยจะเริ่มเปิดบริการในปีนี้2 แห่ง แห่งแรกคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นี้ และโรงพยาบาลหัวทะเลเปิดวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550
-2-
นายแพทย์สำเริงกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการจัดกำลังคนในโรงพยาบาลเปิดใหม่ จะใช้ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชบางส่วน หรือจ้างเจ้าหน้าที่เกษียณอายุ และให้ท้องถิ่นให้ทุนการศึกษาส่งคนไปเรียนหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ เพื่อให้สามารถบริหารกำลังคนได้ในอนาคต ทั้งนี้ในภาพรวมการจัดบริการประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในจังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมา สามารถสร้างความพึงพอใจประชาชนได้กว่าร้อยละ 90 มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่อาจจะลดไปบ้างเช่นที่โรงพยาบาลมหาราชฯ เพราะคนไข้แน่น โดยขณะนี้ โรงพยาบาลในจังหวัดนครราชสีมาทั้งรัฐและเอกชน ผ่านระบบการประเมินโรงพยาบาลคุณภาพมาตรฐานหรือเอชเอมากถึง 20 แห่งจากที่มีทั้งหมด 26 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย
****************************************** 30 กรกฎาคม 2550
View 8
30/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ