รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย หารือรัฐมนตรีสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศเอฟพีจีเอส ประกอบด้วยไทย บราซิล นอร์เวย์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส เซเนกัล แอฟริกาใต้ เพื่อร่วมมือสร้างระบบสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบจากโรคระบาด ภัยคุกคามสุขภาพ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ สร้างความปลอดภัย ความเชื่อมั่นประชาชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสมาพันธ์สวิสเมื่อเช้าวันนี้ (21 พฤษภาคม 2558) ว่า ในการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 68 ประจำปี2558 ได้ประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศเอฟพีจีเอช( Foreign Policy and Global Health :FPGH) ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เซนีกัล แอฟริกาใต้ และ ไทย ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2549 เพื่อผลักดันวาระสุขภาพโลกผ่านช่องทางนโยบาย การต่างประเทศ โดยประเด็นหารือสำคัญในวันนี้มี 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อโรคระบาด และภัยคุกคามด้านสุขภาพ (Building resilient health system) การจัดการวิกฤตการณ์สุขภาพระหว่างประเทศ(International health crisis management ) และวาระสุขภาพหลังปี พ.ศ.2558 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Health in the post 2015 Sustainable Development Goals ) ซึ่งเป็นประเด็นที่หารือในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่68 ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันจัดประชุมคู่ขนานเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะสมเหตุผล เพื่อลดปัญหาและป้องกันเชื้อดื้อยาอย่างจริงจังในอนาคต เนื่องจากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในพ.ศ.2556 พบเชื้อหลายชนิดดื้อยา เช่น เชื้อวัณโรค พบในผู้ป่วยรายเก่าประมาณร้อยละ 20 ส่วนรายใหม่พบได้ร้อยละ 3.5 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ติดวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนานปีละ480,000 ราย ใน 100 ประเทศ และยังพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ ปอดบวม ดื้อยาปฏิชีวนะด้วย หากทุกประเทศไม่ร่วมมือกันแก้ไขป้องกัน จะทำให้เกิดการสูญเสียค่ารักษามากขึ้น และอาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เนื่องจากไม่มียารักษาที่ได้ผล

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ กรอบการดำเนินงานของกลุ่มประเทศเอพีจีเอช มาโดยตลอด และปีนี้นับว่าเป็นปีสำคัญที่กำลังจะก้าวผ่าน  ปีพ.ศ.2558 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในอนาคตนับว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น และต้องการความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและจากหลากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการดำเนินงานแบบบูรณาการข้ามกระทรวงอยู่แล้ว สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมสภาพปัญหามากขึ้น

******************************* 21 พฤษภาคม 2558



   
   


View 11    21/05/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ