ไทยลงนามความร่วมมือ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง    เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดที่มีปัญหามากในภูมิภาค อาทิ เอดส์  กาฬโรค  วัณโรค  มาลาเรีย  อหิวาตกโรค  โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน  โรคพิษสุนัขบ้า  รวมถึงโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก  ซึ่งเป็นภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค  โดยจะร่วมมือพัฒนาศักยภาพการป้องกันโรคระบาดภายในประเทศและระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น  

 ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่  68  ประจำปี 2558   ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส  ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2558    ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคระบาด  ซึ่งเป็นภัยคุกคามมีผลกระทบต่อประชาชน   เศรษฐกิจและความมั่นคง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีพรมแดนติดต่อกัน  ปัญหาโรคระบาดที่ผ่านมาที่พบในภูมิภาคนี้ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เป็นต้น  การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการเสริมสร้างศักยภาพภายในประเทศและระดับภูมิภาค  ในการป้องกันโรคระบาดที่มีอันตรายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับโรคที่มีปัญหามากในภูมิภาคนี้คือ เอดส์ กาฬโรค วัณโรค มาลาเรีย อหิวาตกโรค โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงโรคระบาด โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ( H5N1) และสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) 
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ตามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้  จะเป็นกลไกประสานการทำงานระหว่างประเทศและในระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการส่งเสริมการทำงานด้านสุขภาพของอาเซียน การเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดใหม่  เช่น อีโบลา, โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือเมิร์ส โควี (MERS-CoV) และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่    รวมถึงการผสมผสานสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพแบบหนึ่งเดียว (One Health) ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 
 
ทั้งนี้ เครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังโรคลุ่มแม่น้ำโขงหรือเอ็มบีดีเอส  (Mekong Basin Disease Surveillance : MBDS) เกิดขึ้นจากความเห็นพ้องร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ตระหนักถึงภัยคุกคามโรคระบาด  และผลกระทบต่อประชาชน  เศรษฐกิจและความมั่นคง  โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมาขาดกลไกความร่วมมือ การพัฒนาที่ไปในทิศทางเดียวกัน       ไทยจึงได้ร่วมกับ จีน และลาว ริเริ่มให้มีการจัดตั้งเครือข่ายเอ็มบีดีเอส  ผ่านการหารือเวทีนานาชาติในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก  และที่สุดได้ก่อตั้งเป็นเครือข่ายแรกของโลกในการเฝ้าระวังโรคระบาด โดยมีมติร่วมกัน 6 ประเทศตั้งแต่ปี 2544 ที่ยูนนาน  
*****************************  20 พฤษภาคม 2558


   
   


View 17    20/05/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ