รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งอบรมความรู้อสม.จังหวัดตาก สู้ภัยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง โดยปรับพฤติกรรมคนไทยให้ระวัง 2 อารมณ์ คือ เกรงใจและเสียดายของ ช่วยไม่ให้อ้วน พร้อมขอให้อสม.ช่วยเฝ้าระวังโรคที่แฝงมากับแรงงานพม่า เช้าวันนี้ (26 กรกฎาคม 2550) นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอบรมฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพ อสม.ของ อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.เมือง และกิ่ง อ.วังเจ้า จังหวัดตาก รวม 800 คน และเยี่ยมศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เพื่อติดตามความก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า การอบรมฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพ อสม.ครั้งนี้ จะมุ่งเน้น 5 โรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ซึ่งเป็นภัยเงียบทำให้คนไทยป่วยโดยไม่รู้ตัว และกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอีก 30 ปีข้างหน้า จึงต้องเร่งป้องกันแก้ไขตั้งแต่วันนี้ โดยจะอบรมเสริมความรู้ให้ อสม.เป็นแนวรุกในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ไม่ให้อ้วน เพราะเป็นบ่อเกิดของโรคดังกล่าว โดยต้นเหตุที่ทำให้คนไทยอ้วนง่ายมักเกิดจาก 2 อารมณ์ ได้แก่ เสียดายของและขี้เกรงใจ จนต้องกินอาหารในปริมาณที่เกินความต้องการ แม้ว่าจะอิ่มแล้วก็ตาม จึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอสม.จะต้องเป็นตัวอย่างกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตัว หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น สำหรับที่จังหวัดตาก เนื่องจากเป็นพื้นที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศพม่าถึง 560 กิโลเมตร จึงมีแรงงานชาวพม่าเดินทางเข้าออกจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาระบาดในประเทศได้ง่าย จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยาอย่างเข้มงวด โดยในปี 2550 พบชาวพม่าป่วยด้วยอหิวาตกโรค 306 ราย และป่วยด้วยโรควัณโรคที่ดื้อต่อยาหลายชนิด 7 ราย ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานขอความร่วมมือให้ อสม.เข้ามาช่วยดูแล เฝ้าระวังในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากอสม.จะรู้ความเป็นไปในพื้นที่เป็นอย่างดี สำหรับปัญหาขาดแคลนแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่กระทรวงกำลังพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยหลายที่แพทย์รับภาระหนักมาก เช่น ที่ตากแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากรถึง 4,621 คน สูงกว่ามาตรฐานสากลถึง 3 เท่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งผลิตแพทย์เพิ่มเข้าสู่ระบบบริการอย่างต่อเนื่อง ใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี เป้าหมายผลิตแพทย์ 3,000 คน และโครงการเร่งรัดผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท พ.ศ. 2547-2556 อีก 3,807 คน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ และภาระหนักในการให้บริการผู้ป่วยของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐได้ระดับหนึ่ง ด้านนายแพทย์ละลิ่ว จิตต์การุญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นในโรงพยาบาลสมทบกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ผลิตแพทย์ตามโครงการเร่งรัดผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติภาคคลินิกของนักศึกษาแพทย์ใน ปี 4-ปี 6 โดยศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ 18 มีนาคม 2548 รับนักศึกษาปีละประมาณ 10 คน ขณะนี้มีนักศึกษาแพทย์ทั้งหมด 26 คน นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกของโครงการฯ จะสำเร็จการศึกษาในปี 2550 นี้ กรกฎาคม8/9 ******************************* 26 กรกฎาคม 2550


   
   


View 16    26/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ