กระทรวงสาธารณสุขกำชับด่านชุมชนสกัดเข้มเมาไม่ขับในวันมหาสงกรานต์ พร้อมเพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพ 2 เท่าตัว ชี้รอบ 4 วัน ด่านชุมชนได้ผลดีไม่พบเจ็บตาย เผยผลการตรวจเหล้า รอบ 11 วัน ก่อนและในช่วงสงกรานต์พบทำผิด 398 ราย ใน 36 จังหวัด ความผิดอันดับหนึ่ง คือ การส่งเสริมการขาย 165 ราย ส่วนผลการปฏิบัติงานหน่วยกู้ชีพ รอบ 4 วัน ออกเฉลี่ยเกือบทุก 1 นาที ชี้นมเปรี้ยวไม่ช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือด
 
          วันนี้(13 เมษายน 2558)ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กระทรวงมหาดไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข ในการรับมือกับปัญหาอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ในรอบ 4 วันที่ผ่านมาพบว่าได้ผลดี ประชาชนโทรแจ้งสายด่วนหมายเลข1669จำนวน 2,845 ครั้ง ทีมแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติงาน 4,445ครั้ง เฉลี่ยเกือบทุกนาที ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บสาหัส 3,740 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการได้ในเวลา 10 นาที ร้อยละ 81 ส่วนในโรงพยาบาลสามารถรับมือได้ดี
 
          อย่างไรก็ตามในวันที่ 13 เมษายน 2558 เป็นวันมหาสงกรานต์ ซึ่งพบว่าทุกปีจะเป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้สั่งการให้หน่วยงานในสั่งกัดเข้มข้น ใน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ด่านชุมชนสกัดไม่ให้มีการเมาแล้วขับ โดยให้ อสม.ร่วมกับผู้นำชุมชนออกตรวจเตือนกลุ่มเสี่ยงให้ดื่มเหล้าในบ้าน ผู้ขับมอเตอร์ไซค์ให้ใส่หมวกกันน็อค ซึ่งจากการติดตามใกล้ชิดใน 8 จังหวัด 15 อำเภอ 160 ด่านชุมชน  เช่น บุรีรัมย์ ที่ อ.พุธไธสง ตั้ง 95 ด่าน สุโขทัย ที่ อ.ศรีสัชนาลัย ตั้ง 7 ด่าน ขอนแก่น ที่ อ.แวงน้อย ตั้ง 17 ด่าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ได้ผลดีมาก ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต   โดยได้สกัดผู้ที่ดื่มสุราได้หลายรายบางรายเป็นผู้ขับขี่ดื่มสุราและมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 223 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ได้สกัดไว้และให้ญาติมารับตัวกลับบ้าน   ซึ่งหากปล่อยให้ขับรถไปจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์กว่า 40 เท่าตัว ขอความร่วมมือสมาชิกครอบครัวและผู้ร่วมเดินทางช่วยดูแลผู้ขับขี่ที่สภาพร่ากายไม่พร้อม เช่น เมา หรือ ง่วง ไม่ให้ขับและควรพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมก่อนขับขี่
 
            2.เพิ่มกำลังแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ซึ่งขณะนี้เขตสุขภาพทุกเขตเตรียมพร้อมโรงพยาบาลและระบบการส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่ออย่างเต็มที่  3.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่ออกตรวจควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
 
          ทางด้านนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อความในโซเซียลมีเดียว่าการดื่มนมเปรี้ยวจะช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและจะตรวจไม่พบเมื่อเจ้าหน้าที่ให้เป่าในเครื่องตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ ขอชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน นมเปรี้ยวไม่มีฤทธิ์ทำลายแอลกอฮอล์   ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด จะทำให้เป็นอันตรายกับผู้ที่ดื่มแล้วขับหรือเมาแล้วขับเพราะแอลกอฮอล์ยังอยู่ในเลือดเหมือนเดิม จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องหรือตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะแชร์เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
          สำหรับผลการตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบ 11 วัน ทั้งก่อนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตรวจทั้งหมดรวม 1,365 ราย ใน 36 จังหวัดทุกภาค พบผู้กระทำผิด 398 ราย ความผิดอันดับหนึ่ง คือ การส่งเสริมการขาย 165 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา ที่เหลือขาย ลด แลก แจก แถม 66 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม 33 ราย และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 8 ราย ดื่มในที่ห้ามดื่ม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ จำนวน 61 ราย ขายผิดเวลา 57 ราย                        
 
************************************* 13 เมษายน 2558
 
 
 


   
   


View 14    13/04/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ