สาธารณสุข เปิดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมกว่า 10,000 คนฟรี ก่อนที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี 2550 เริ่มบริการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม- 10 สิงหาคม 2550 บริการทั้งในเขตกทม. และ 14 จังหวัดภาคใต้ ผลการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิม 7 ปีที่ผ่านมามีความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล วันนี้ (25 กรกฎาคม 2550) ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นและโรคไข้หวัดใหญ่ แก่ชาวไทยมุสลิมที่ไปแสวงบุญ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประจำปี 2550 – 2551 ฟรี เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและเตรียมความพร้อมการดูแลเรื่องสุขภาพอย่างเป็นระบบ ให้มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล โดยในวันนี้มีชาวไทยมุสลิมในเขตกทม.ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์มารับบริการ 1,500 คน นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ทุกปีชาวมุสลิมทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ จำนวน 2-3 ล้านคน จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เมืองเมกกะ การที่ผู้คนจำนวนมากไปอยู่รวมกันเช่นนี้ ทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ไข้กาฬหลังแอ่นและไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เนื่องจากต้องอยู่รวมกันในสถานที่จำกัดเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ โดยในปีนี้สถานทูตซาอุดิอาระเบียให้โควต้าชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 13,000 คน ซึ่งจะเริ่มเดินทางไปเข้าร่วมพิธีในปลายปีนี้ ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างแสวงบุญ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2 โรคได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น สายพันธุ์เดียวกับที่ประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนด ชนิดเอ,ซี,วาย และดับเบิลยู 135 (A,C,Y และ W 135) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ฟรี อย่างละ 15,000 โดส ซึ่งประเทศไทยได้ให้บริการฉีดวัคซีนนี้แก่ผู้ที่จะเดินทาง 7 ปีแล้ว ในปีนี้ให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2550 สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการศาสนา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนไว้อย่างเพียงพอ ที่กรุงเทพฯ ไปรับบริการได้ที่สถานบริการ 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี, สำนักงานแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู, กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพฯ, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, และโรงพยาบาลนวมินทร์ กทม. ส่วนผู้ที่อยู่ในภาคใต้ รับบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ จ.สงขลา และนราธิวาส นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า จากผลการปฏิบัติงานของหน่วยพยาบาลไทย ที่ไปตั้งหน่วยบริการชาวไทยมุสลิมระหว่างประกอบพิธีฮัจย์ในปี2549 พบสุขภาพโดยรวมของชาวไทยมุสลิมค่อนข้างดี มีผู้มารับบริการจำนวน 15,169 ครั้ง โรคที่พบมากที่สุดคือ ไข้หวัดทั่วๆไปร้อยละ 80 รองลงมาคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร้อยละ 7 โรคผิวหนังร้อยละ 4 ด้านนายแพทย์กิตติ กิตติอำพน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่จะเดินทางควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยตรวจสุขภาพและเตรียมร่างกายให้แข็งแรง นำยาสามัญประจำบ้านและยาที่ใช้เป็นประจำติดตัวไปด้วย เตรียมเสื้อผ้าสำหรับอากาศร้อนตอนกลางวันและอากาศหนาวตอนกลางคืน ครีมทาป้องกันผิวหนังและริมฝีปาก ระหว่างที่พักในเมืองเมกกะ ควรดื่มน้ำมากๆ หากออกจากที่พักควรกางร่ม หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำคลุมศีรษะเพื่อความชุ่มชื้น และเตรียมผ้าสำหรับปิดปากปิดจมูกสำหรับป้องกันฝุ่นละอองด้วย**


   
   


View 12    25/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ