สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 675 View
- อ่านต่อ
รัฐบาลคาดอีก 6 ปี ไทยจะเป็น“สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ผลสำรวจล่าสุดในปี 2557 ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 20 ปีมากสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.มีน้อยที่สุด ร้อยละ 17 ไม่รู้หนังสือ ที่น่าเป็นห่วงพบผู้สูงอายุร้อยละ 10 หรือประมาณ 1 ล้านคนอยู่ตามลำพัง ด้านสุขภาพร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว มากสุดคือความดันโลหิตสูง พิการร้อยละ 6 นอนแซ่วติดเตียงร้อยละ 1 ให้ 5 กระทรวงหลักจัดโครงการดูแล เพิ่มคุณภาพชีวิต โดยปี 2558 เริ่มใน 155 ตำบล 76 จังหวัด
วันนี้ (2 เมษายน 2558) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นส.เสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว “รัฐ – ราษฎร์ ร่วมใจห่วงใยดูแลผู้สูงอายุ”
นายยงยุทธ์ กล่าวว่าขณะนี้อัตราการเพิ่มของประชากรสูงอายุของประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2548-2549 เป็นต้นมาผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 10 ล้านกว่าคน หรือเกือบร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้น2เท่าตัวในรอบ 20 ปี กว่าครึ่งอยู่ในชนบท คาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 20เรียกว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อีก 20 ปีจะเป็น“สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพิ่มปีละประมาณ 6 แสนคน ผลสำรวจครั้งนี้ พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สูงอายุมากที่สุด ร้อยละ 31 รอง
ลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ เฉพาะในกทม.มีน้อยที่สุด คือร้อยละ 9มีผู้สูงอายุไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ 17 ส่วนด้านที่อยู่อาศัย พบผู้สูงอายุร้อยละ 10หรือประมาณ 1 ล้านคน อยู่คนเดียวตามลำพัง เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 20 ปี ด้านสุขภาพยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพดี ที่เหลือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง โรคที่ป่วยมากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41 รองลงมาคือเบาหวาน ร้อยละ 18 เข่าเสื่อมร้อยละ9 พิการร้อยละ 6 ป่วยติดเตียงช่วยเหลือตนเองไม่ได้ร้อยละ 1 หรือประมาณ 1 แสนคน มีร้อยละ 13 ที่ป่วยทั้งความดันโลหิตสูงและเบาหวาน
นายยงยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เพื่อให้ผู้สูงอายุปัจจุบันและประชากรไทยที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงริเริ่มจัดโครงการ รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจห่วงใยผู้สูงอายุโดยบูรการงานกระทรวงสายสังคม ได้แก่ สาธารณสุข ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมฯมหาดไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันเติมเต็มบริการดูแลด้านต่างๆ ที่ควรจะเป็นให้ครบถ้วน โดยในปีนี้จะนำร่องพัฒนารูปแบบในพื้นที่ 155 ตำบลใน 76 จังหวัด ก่อนขยายผลทั่วประเทศในปีต่อไป และติดตามผลงานต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มวางระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและชุมชนอย่างอบอุ่น ได้รับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ในปี2558 นี้ จะดำเนินการ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ตรวจคัดกรอง/บริการทันตกรรม เนื่องจากผลการสำรวจพบผู้สูงอายุมีปัญหาไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร ประมาณ 250,000 คน โดยจัดทำฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทาน และฝังรากฟันเทียมให้ฟรี มีระบบการส่งต่อเพื่อดูแลอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงจากสถานพยาบาลสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการใกล้บ้าน 2.จัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยฝึกอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ หรือ care manager เป้าหมาย 500 คน และฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน care giver เป้าหมาย 2,500 คน และอบรมผู้จัดการผู้สูงอายุ 1,000คน
3. จัดทีมหมอครอบครัว (family care team) แบบสหวิชาชีพ ให้การดูแลประชาชนทุกหลังคาเรือน ทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท ทุกครอบครัวจะมีหมอดูแลประจำ ช่วงแรกเน้นหนัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ขณะนี้มีแล้ว 15,000 ทีม และจะเพิ่มให้ได้ 30,000 ทีมในสิ้นปีนี้ ทีมหมอครอบครัวจะทำหน้าที่สนับสนุน สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในผู้สูงอายุ เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และการส่งต่อเพื่อการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล และ4.เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของประชาชนวัยกลางคน เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุโดยไร้โรคภัย
********************* 2 เมษายน 2558