กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 20,000 แห่ง โรงเรียนอนุบาล 30,000 แห่ง เป็นเขตปลอดโรคติดต่อที่มีผลต่อสุขภาพ พัฒนาการของเด็ก ได้แก่ โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และไข้หวัด โดยใช้สูตร 3 ดีคือ ครูมีสุขภาพและความรู้ดี บริหารจัดการดี และสภาพแวดล้อมดี เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย สุขภาพดี สมองดี จากการศึกษาประสิทธิผลของมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็ก สามารถตัดวงจรแพร่ระบาดในพื้นที่ได้ร้อยละ 5

วันนี้ (12 มีนาคม 2558 ) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหาร นักวิชาการ จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ครูประจำศูนย์เด็กเล็ก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 300 คน เพื่อมอบนโยบายการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลให้มีคุณภาพ ปลอดภัยจากโรคติดต่อ และมอบโล่รางวัลแก่ศูนย์เด็กเล็กที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน“ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ-ปลอดโรค” ระดับเขต จำนวน 12 แห่ง

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยในอนาคต จากสภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องนำลูกไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เนื่องจากการที่เด็กเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ เมื่ออยู่รวมกันจำนวนมาก หากเจ็บป่วยจะสามารถแพร่เชื้อติดต่อกันได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพโดยรวมของเด็ก ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบเด็กที่ป่วยมากกว่า 2 ใน 3 เป็นเด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล จากการเฝ้าระวังย้อนหลัง 5 ปี พบว่าแนวโน้มเด็กป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2552 จำนวน 8,166 ราย เพิ่มเป็น 60,951 ราย ในปี 2557 เสียชีวิตเฉลี่ย 3 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เพิ่มมาตรการควบคุมป้องกันโรค พัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลที่มีทั่วประเทศ ประมาณ 50,000 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ปลอดโรค และไม่เป็นแหล่งแพร่โรคหากมีเด็กป่วยเกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะเน้นด้านโภชนาการและการสร้างความสะอาดระบบสุขาภิบาลของสถานที่ เครื่องเล่นต่างๆ เพื่อให้เด็กวัยนี้ ซึ่งเป็นวัยแห่งการพัฒนาเรียนรู้ ได้รับการพัฒนารอบด้าน มีสุขภาพดี เป็นคนดีและคนเก่ง     

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมอนามัย พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีประมาณ 20,000 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจำนวนกว่า 2 ล้านคน ให้มีคุณภาพปลอดโรคเน้นหลัก 3 ดี  คือ ดีที่ 1 ครูพี่ลี้ยงมีสุขภาพและความรู้ดี โดยผ่านการอบรมความรู้เรื่องโรคติดต่อ ดีที่ 2 คือ การบริหารจัดการดี โดยมีการบริหารจัดการที่ดีของศูนย์เด็กเล็กในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และดีที่ 3 คือ สภาพแวดล้อมดีโดยปรับปรุงสุขาภิบาล ความสะอาดศูนย์เด็กเล็ก ของเล่นเด็กให้ปลอดภัย โดยกำหนดให้ทุกแห่งปฏิบัติตามแนวทาง 10 ประการ เช่น การตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนของเด็กทุกภาคเรียน ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน หากมีเด็กป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และทำความสะอาดทำลายเชื้อสถานที่ อุปกรณ์ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ อย่างถูกวิธี โดยครูพี่เลี้ยงเด็กต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เป็นต้น                                                                                           

จากการติดตามและประเมินผลโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค พบว่าได้ผลดี ประมาณร้อยละ 70 ของศูนย์ เด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองเด็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก และแยกเด็กป่วยจากเด็กปกติได้อย่างรวดเร็ว ดูแลทำความสะอาดสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้ปลอดจากเชื้อ สามารถหยุดยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะยังไม่สามารถลดโรคมือ เท้า ปากในภาพรวมได้ทั้งหมด แต่จากการศึกษาพบว่า มาตรการนี้ สามารถลดอัตราป่วยโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่ ไม่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 56 ขณะนี้มีศูนย์เด็กเล็กสมัครเข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 95 จำนวน 18,617 แห่ง ผ่านการประเมินรับรองแล้วร้อยละ 73 จำนวน 12,694 แห่ง และได้พัฒนาโครงการให้เป็นศูนย์เด็กเล็กคุณภาพและปลอดโรคด้วย ผ่านเกณฑ์การประเมิน ร้อยละ 70 จำนวน 5,279 แห่ง ทั้งนี้ยังได้ขยายผลการดำเนินงานไปโรงเรียนอนุบาลประมาณ 30,000 แห่ง ซึ่งดูแลเด็กอายุ 3- 6 ปี ประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งได้ ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 10 ในปี 2558 และจะขยายเพิ่มขึ้นต่อไป

********************************************* 12 มีนาคม 2558
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 8    12/03/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ