กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ปฏิบัติ 2 ภารกิจแทน สปสช. ได้แก่เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนบัตรทองเลือกหน่วยบริการ หรือเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ  และการพิจารณาความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ตามมาตรา 41    เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่   มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ประชาชนและทุกฝ่ายสบายใจได้
                นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการปรับระบบการบริหารจัดการภายในการวางแนวทางดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นไปตามบทบาทภาระหน้าที่ตามกฎหมาย ว่า ผลการหารือของผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย ล่าสุดนี้ ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า สปสช.ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  ปฏิบัติหน้าที่แทนสปสช. ใน 2  บทบาทภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1.ทำหน้าที่การพิจารณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรณีที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการทางการแพทย์ ตามมาตรา 41  แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่สปสช.กำหนดเหมือนที่เคยปฏิบัติมา  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาเดินทางไปที่สปสช.เขต  และได้รับการดูแลหรือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด   และ2.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำของประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   
            “ขอให้ประชาชนทุกคนสบายใจได้ และขอให้เชื่อมั่นกระทรวงสาธารณสุขว่า พวกเราพร้อมให้การดูแลประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่อย่างดีที่สุด  การปฏิบัติ 2 ภารกิจแทนสปสช. ที่กล่าวมา มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศแล้วเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2558)  เพื่อให้ทุกจังหวัดปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน”   นายแพทย์วชิระกล่าว  
          ทั้งนี้ ตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดภารกิจหน้าที่ของ สปสช. สาขาจังหวัดในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ  ตามมาตรา 26 รวม 8 ภารกิจ ได้แก่ 1.การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ  2. การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์  3.การส่งเสริมการพัฒนาและควบคุมกำกับคุณภาพหน่วยบริการและเครือข่ายบริการ 4.การมีส่วนร่วมของภาคท้องถิ่นและภาคประชาชน 5.การคุ้มครองสิทธิ/รับเรื่องร้องเรียน/ประชาสัมพันธ์ 6.การบริหารการเรียกเก็บและเวชระเบียน 7.การบริหารกองทุน/หน่วยบริการคู่สัญญา และ8.ภารกิจอื่นๆ ส่วนบทบาทภารกิจกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ตามมาตรา 45 ในการจัดบริการที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ อาทิเช่น การให้บริการทางการแพทย์ การจัดระบบข้อมูลบริการ เป็นต้นเมื่อมีการยกเลิกการเป็น สปสช.สาขาจังหวัด ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตามมติบอร์ด สปสช. เมื่อ 7 พ.ค.57 โดยให้มีผล 30 ก.ย.57 ทำให้ทั้ง 8 ภารกิจหน้าที่สิ้นสุดไปจนทำให้ สธ. และ สปสช. วางแนวทางกันใหม่ โดย สปสช. มอบหมายให้ สธ. ปฏิบัติ 2 ภารกิจแทน สปสช. ดังกล่าว
          นายแพทย์วชิระกล่าวต่อไปว่า ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยขึ้นทะเบียนดังกล่าวของสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  จะปฏิบัติตามแนวทางประกาศของสปสช. โดยทำหน้าที่ตรวจสอบแบบคำร้อง หลักฐานการขอลงทะเบียน และบันทึกตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ หรือเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำในเขตพื้นที่รับผิดชอบและเชื่อมโยงข้อมูลกับให้สปสช.และสปสช.เขต
 
*******25กุมภาพันธ์2558


   
   


View 9    25/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ