กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมจากกรมควบคุมโรค ตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบเหมืองทอง จ.พิจิตร ที่มีโลหะหนักปนเปื้อนในเลือด 401 คน ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ นี้ หาสาเหตุความเสี่ยงที่แท้จริงและวางแผนการดูแลชาวบ้านอื่นๆ อีก6,000 คน พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้ต่อเนื่อง
             เย็นวันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชนรอบเหมืองทอง จ.พิจิตร ว่า วันนี้ได้ติดตามใน 2 ประเด็น คือ การดูแลสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย จะลงพื้นที่ตรวจสุขภาพร่างกายประชาชนซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มชาวบ้านที่เจ็บป่วยทุกโรคจะได้รับการดูแล ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจะส่งทีมหมอครอบครัวจากรพ.สต.ไปดูแลถึงบ้าน โดยจะดูแลทั้ง 3 จังหวัดคือ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ดูแลทุกหมู่บ้าน จ.พิษณุโลก2หมู่บ้าน จ.เพชรบูรณ์4หมู่บ้าน ในเบื้องต้นพบผู้ป่วยประมาณ20คน ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดจากเหมืองแร่
            กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลพบโลหะหนักในเลือด เช่น แมงกานีส สารหนู ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ซึ่งได้ตรวจประมาณ 700 คน พบว่า มีจำนวน 401 คน ที่มีโลหะหนักในเลือดเกินค่ามาตรฐาน โดยระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2558 จะส่งทีมกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ตรวจร่างกายกลุ่มดังกล่าว โดยเน้นการตรวจอาการกับพิษโลหะหนักหรือจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ อาจมีการเจาะเลือด และซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อดูปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโลหะหนักในเลือดสูง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปัจจัยสาเหตุความเสี่ยงที่มีค่าโลหะหนักในเลือด ให้ได้ข้อสรุปในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อนำมาวางแผนดูแลประชาชนในกลุ่มที่ 3 ที่เหลือกว่าอีก 6,000 คน รวมทั้งเด็กนักเรียนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด และวางแผนดูแลอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องมีการปรับแผนการดูแลเป็นระยะตามความจำเป็นคาดว่าจะเริ่มประมาณเดือนมีนาคม 
           สำหรับ จ.พิจิตร ขณะนี้ได้มอบให้รพ.ชุมชนและรพ.พิจิตรดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังวิตกกังวลเรื่องความเจ็บป่วย จึงได้ประสานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโรคผิวหนังและสถาบันประสาทวิทยาจากกรมการแพทย์ ลงไปตรวจดูแลรักษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจแก่ประชาชน ขณะเดียวกันสำนักงานสาธารณสุขจ.พิจิตรจะอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเป็นอยู่ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง 
             นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันให้เป็นระบบคือ การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง เช่น บ่อขยะ หรือพื้นที่ที่มีการประกอบเหมืองแร่ อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ปิโตรเคมี เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้น อาจมีการเจาะเลือดด้วย มีการตรวจสิ่งแวดล้อมประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาความเกี่ยวข้องกัน ในส่วนของการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอชไอเอ (EHIA) ควรจะมีกลไกการคัดเลือกผู้ที่จะทำการประเมินให้เป็นกลางและอาจตั้งกองทุนกลางเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและเชื่อถือได้ 
            ทั้งนี้ในส่วนของกรมอนามัยได้จัดแผนตรวจสอบคุณภาพน้ำ ทั้งน้ำประปา ที่ผลิตจากน้ำบาดาล และน้ำผิวดิน บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบรรจุขวด น้ำฝน น้ำตู้หยอดเหรียญ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาสารเคมี 5 ชนิด คือ แมงกานีส สารหนู แคดเมียม เหล็ก และไซต์ยาไนด์ รวมทั้งตรวจสอบในพืชผักด้วย และเฝ้าระวังคุณภาพทุก3 เดือน      
*************** 13 กุมภาพันธ์ 2558
 


   
   


View 21    13/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ