กระทรวงสาธารณสุข เปิดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย หวังแก้ไขปัญหาความชัดแย้งระหว่างหมอ-ผู้ป่วย-ญาติ ลดการฟ้องร้องโดยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยแนวสันติวิธี และให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย จัดให้มีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างน้อยแห่งละ 2 คน ชี้ขณะนี้ปัญหาฟ้องร้องทวีความรุนแรงขึ้นจากปีละ 50 เรื่องเป็น 300 เรื่อง แพทย์ถูกร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 151 เรื่อง
เช้าวันนี้ (16 กรกฎาคม 2550) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กทม. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนาผู้บริหารสาธารณสุขจากทั่วประเทศ แพทยสภา สภาการพยาบาล และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข กว่า 200 คน ในเรื่องการเจาจาไกล่เกลี่ย เพื่อการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคบริการทางการแพทย์หรือในหน่วยงาน และฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ในหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีมากขึ้น และอยู่ในความสนใจของสังคม เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตการเจ็บป่วย เพิ่มจากช่วง 10 ปีก่อนที่มีปีละ 50 เรื่องเป็นปีละ 300 เรื่อง ข้อมูลจากแพทยสภาตั้งแต่ปี 2531-2549 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 2,726 เรื่อง เฉลี่ยปีละ 151 เรื่อง สาเหตุการร้องเรียนมากที่สุดคือ ไม่รักษามาตรฐาน 1,500 ราย โฆษณาประกอบวิชาชีพของแพทย์ 350 ราย ให้การรักษาแพงเกินเหตุ 238 ราย โดยระหว่างปี 2531-ปัจจุบัน มีคดีฟ้องร้องแพทย์เข้าสู่ศาลยุติธรรม จำนวน 22 คดี สาเหตุที่ฟ้องคดีที่มากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ผลแทรกซ้อนร้ายแรง รองลงมาเป็น ความบกพร่องของแพทย์ ความคาดหวังต่อผลสำเร็จสูง การได้รับข้อมูลไม่พอไม่ตรงกัน รวมทั้งเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย สาเหตุจากความคาดหวังต่อการบริการของแพทย์-พยาบาลของประชาชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มากขึ้น ขณะที่จำนวนบุคลากรการแพทย์มีน้อยโดยเฉพาะแพทย์ ทั่วประเทศมี 33,946 คน อยู่ในกทม.และปริมณฑล 16,574 คน อยู่ในต่างจังหวัด 14,372 คน โดยแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบประชากรเกือบ 5,000 คน แต่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกในแต่ละวันมากถึง 1,000 คน บางแห่งมีถึง 2,000 คน ซึ่งแออัดมาก
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันหรือลดความขัดแย้งจากบริการรักษาพยาบาล ได้กำชับให้ผู้บริหารทุกคน ตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาที่รวดเร็ว และมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ตั้งศูนย์เจรจาไกล่เกลี่ยและให้อบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นหมอหรือพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีความเข้าใจระบบบริการการแพทย์อย่างดี และมีบุคลิกแบบนักการทูต ยืดหยุ่นแบบสมานฉันท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น อย่างน้อยแห่งละ 2 คน หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ควรมีไม่น้อยกว่า 4 คน โดยได้ให้ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข เป็นศูนย์กลางทำหน้าที่ฝึกอบรม และให้คำแนะนำในการจัดระบบงานและตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยทุกโรงพยาบาล
ขณะนี้แพทย์ 1 คน โดยเฉลี่ยต้องดูแลผู้ป่วยถึง 100 คนต่อวัน มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละไม่ถึง 4 นาที ทำให้มีเวลาพูดกับผู้ป่วยน้อย ไม่มีเวลาอธิบายหรือแนะนำการรักษา เมื่อเกิดปัญหาจึงมีการร้องเรียนและฟ้องเรียกค่าเสียหาย เกิดผลกระทบด้านขวัญกำลังใจแพทย์และเจ้าหน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ที่เคยดีมาแต่เดิมกลับเลวร้ายลงอยู่ในขั้นวิกฤต เกิดปัญหาตามมา เช่น การส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอำเภอโดยไม่จำเป็น แพทย์ปฏิเสธที่จะไปอยู่ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก เป็นต้น หากมีการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ให้เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องและเกิดความเข้าใจดีต่อกันแล้ว มั่นใจว่าปัญหาจะลดน้อยลง นายแพทย์วัลลภกล่าว
ด้านนายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มพัฒนาแนวคิดและทักษะการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยตั้งแต่ปี 2545 ได้รับความสนใจจากบุคลากรทุกระดับทั่วประเทศ ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขจึงได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาแนวคิดและทักษะการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีขึ้น จำนวน 2 หลักสูตร คือหลักสูตรการพัฒนาแนวความคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีโดยการเจรจาไกล่เกลี่ย อบรม 5 วัน และหลักสูตรเพิ่มศักยภาพพนักงานเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางด้านสาธารณสุข อบรม 6 วัน โดยตั้งแต่ปี 2546-2550 ได้จัดอบรมหลักสูตรพื้นฐานแล้ว 70 จังหวัด มีผู้ผ่านการอบรม 6,000 คน ส่วนหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ย ผ่านการอบรมแล้ว 250 คน มีความพร้อมในการทำหน้าที่การไกล่เกลี่ยของโรงพยาบาล
สำหรับคุณลักษณะของผู้ที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จะต้องมีความเป็นกลางและเป็นธรรม ไม่เป็นผู้ตัดสิน แต่เป็นผู้ทำให้คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ รวมทั้งต้องมีความอาวุโส เป็นที่ไว้วางใจ มองโลกในแง่ดี ใจกว้าง ช่วยคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย และหากจำเป็นอาจมีผู้ไกล่เกลี่ยจากภายนอกมาไกล่เกลี่ยร่วมด้วย ปัจจุบันผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมแล้วปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไกล่เกลี่ยเพื่อป้องกันความขัดแย้ง การดับอารมณ์ไม่ให้บานปลายสู่การฟ้องร้อง ส่วนที่ฟ้องแล้วก็ยังให้ความร่วมมือกับศาลยุติธรรมในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ทำให้คู่พิพาทตกลงและทำสัญญาประนีประนอมกันได้ เป็นการลดปริมาณคดีและฟื้นความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี การมีผู้ที่มีความรู้และทักษะไกล่เกลี่ยและมีศูนย์ไกล่เกลี่ยในทุกโรงพยาบาลตามนโยบายของกระทรวงฯ จะบังเกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย นายแพทย์บรรพตกล่าวในตอนท้าย
************************************ 16 มกราคม 2550
View 16
16/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ