กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เข้าครม. ปรับปรุงกฎหมายเดิม 2 ฉบับที่ใช้มา 22 ปี ให้ทันสมัยและทันกลยุทธ์การตลาดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เพิ่มอายุผู้ซื้อจาก 18 ปีเป็น 20 ปี ปรับปรุงความหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบครอบคลุมถึงมอระกู่ มอระกู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไร้ควัน ห้ามการส่งเสริมการขาย คาดจะช่วยลดค่ารักษาและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากนักสูบหน้าใหม่ปีละ 15,600 ล้านบาท
          บ่ายวันนี้ (18 ธันวาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  ศ. นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยดร.ศิรินา  ปวโรฬารวิทยา  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริวัฒน์  ทิพย์ธราดล  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศ. นายแพทย์ประกิต  วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว การจัดทำร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ พ.ศ. ... ว่า
          กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยผนวกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานาน 22 ปี ให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติ ดังเช่นภาคีสมาชิกอื่นๆ อีก 178 ประเทศ เพื่อให้มีความทันสมัยและตามทันกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ของบริษัทบุหรี่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทใหม่ที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเช่น บุหรี่ไฟฟ้า มอระกู่ เป็นต้น ทำให้ภาครัฐไม่สามารถมีเครื่องมือที่จะควบคุมปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนักสูบหน้าใหม่เข้าไปแทนที่คนที่เลิกบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กและแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้จำนวนนักสูบไม่ลดลงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วกว่า 5 ล้านคน แต่ก็มีเด็กใหม่ติดบุหรี่เข้ามาทดแทนในจำนวนใกล้เคียงกัน โดยดำเนินการปรับปรุงตามกระบวนการจัดทำกฎหมาย และผ่านการประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาคในพ.ศ. 2555 ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2557 เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
          ทั้งนี้ สาระในกฎหมายฉบับใหม่นี้ ไม่มีประเด็นใดที่เป็นการกีดกันการค้า หรือขัดต่อกฎกติกาการค้าโลก (WTO) มีประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย การปรับปรุงความหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น มอระกู่ มอระกู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีการให้ความหมายของการสื่อสารการตลาด ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการขาย การแสดงที่จุดขาย (Point of Sale) การขายโดยใช้พริตตี้ การสร้างภาพลักษณ์ โฆษณาทางอินเตอร์เน็ต กำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นจากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งซอง เพราะการสำรวจพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 70 ซื้อบุหรี่เป็นมวน ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้แล้วในลาว เมียนมาร์  สิงคโปร์และบรูไน เพื่อจะทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ได้เพิ่มการห้ามขายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะ จูงใจให้อยากสูบบุหรี่ เป็นต้น ห้ามขายในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ เป็นต้น ห้ามโฆษณาและสื่อสารการตลาด เช่นห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต การประกวดหรือการแข่งขัน เป็นต้น                              ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดจำนวนเยาวชนไทยที่จะติดบุหรี่ใหม่ปีละ 100,000 คน ให้มีจำนวนลดลงได้ โดยจากสถิติพบว่า เยาวชนไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต ส่วน 3 คนที่เลิกได้ แต่จะเลิกหลังสูบ 20 ปี โดยบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดการเจ็บป่วยไม่ต่ำกว่า 25 โรค ทั้งคนสูบและผู้ที่สูดควัน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย ในแต่ละปีมีผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 50,710 คน อายุสั้นกว่าคนทั่วไป 12 ปี และจะทนทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิต 2 ปี จากการวิจัยพบว่าหากป้องกันเด็กไทยไม่ให้เด็กติดบุหรี่ได้ 1 คน จะประหยัดค่ารักษาโรคและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอื่น ๆ  ได้  คนละ 156,000 บาท คำนวณง่ายๆหากปล่อยให้เด็กสูบบุหรี่เพิ่มปีละ 1 แสนคน จะเกิดการสูญเสียมากถึง 15,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์การสูบบุหรี่ยังน่าเป็นห่วง โดยอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอายุมากกว่า 15 ปีอยู่ที่ร้อยละ 40 และอัตราการสูบลดลงช้ามาก ที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการสูบของเยาวชนกลับเพิ่มขึ้นในหลายปีหลัง
                จึงมั่นใจว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเป็นการวางรากฐานการคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนไทย เนื่องจากบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด นอกจากมีพิษภัยร้ายแรงในตัวมันเอง ยังเป็นประตูนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติด ทั้งยาเสพติด สุรา อบายมุข และการชิงสุกก่อนห่ามของวัยรุ่นอีกด้วย
          ดร.ศิรินา  ปวโรฬารวิทยา  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่ทำร้ายคนจน ทำให้คนจนยิ่งจนมากขึ้น มีงานวิจัยพบว่าบุหรี่มีอำนาจการเสพติดเทียบเท่าเฮโรอิน ผลสำรวจในปี พ.ศ.2552 พบว่า กลุ่มประชากรรายได้น้อยที่สุดของไทยที่มีจำนวน 1 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 2,094  บาทต่อเดือน แต่กลับเสียเงินค่าซื้อบุหรี่เดือนละ 450บาท หรือร้อยละ 21.5 ของรายได้ แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่นๆ หากไม่ติดบุหรี่  โดยครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่เหล่านี้พยายามจะเลิกสูบ แต่เลิกไม่ได้ ธนาคารโลกจึงแนะนำให้ประเทศต่างๆ ลดความยากจน โดยรณรงค์ให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง  และเราต้องสนับสนุนให้มีร่างกฎหมายใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ เข้ามาติดบุหรี่ เพื่อลดความยากจนด้วย

   ********************************  18 ธันวาคม 2557


   
   


View 17    18/12/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ