“สมศักดิ์” เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงเกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.นี้ ห่วง 38 ล้านคนรับผลกระทบ ออก 4 ข้อสั่งการรับมือ
- สำนักสารนิเทศ
- 453 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนารูปแบบบริการคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึงและใช้บริการด้านสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ ที่ง่าย เร็ว ลับ อบอุ่นและปลอดภัย สานมือใกล้ชิดครูกับหมอ ร่วมแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ชี้สถิติรอบ 10 ปี มีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ทั่วประเทศคลอดลูก 1 ล้านกว่าคน ผลพวงปัญหานี้ ฉุดโอกาสไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ กว่า 14,000 ล้านบาท
วันนี้ ( 13 ธันวาคม 2557 ) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมี 4 จังหวัดคือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลห้วยราช อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานจัดบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และคลินิกวัยรุ่น ตรวจเยี่ยมศูนย์เพื่อนใจทูบีนัมเบอร์วัน และโครงการพูดคุยในครอบครัว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งแก้ไขป้องกันปัญหาวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบทั้งต่อสังคม คุณภาพประชากร เศรษฐกิจ หรืออาจนำไปสู่การทำแท้ง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเยาวชนหญิง สถานการณ์ในปี 2555 มีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรรวม 133,176 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ของหญิงคลอดทั้งหมดที่มี 801,737 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2546 ซึ่งมีจำนวน 95,879 คน ยอดรวม 10 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2546-2555 มีวัยรุ่นกลุ่มนี้คลอดบุตรรวม 1 ล้านกว่าคน และผลการวิจัยของศูนย์อนามัยที่ 8 จ.นครสวรรค์ ซึ่งศึกษาในแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ใน 14 จังหวัดและคลอดบุตรคนแรกไม่เกิน2 ปี จำนวน 2,900 ตัวอย่างในปี 2555 พบว่า ร้อยละ 68 เป็นนักเรียน นักศึกษา การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น 1 คน ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 119,998 - 324,928 บาท กล่าวโดยรวมแล้วจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งป้องกันปัญหาโดยเร็ว โดยหัวใจของความสำเร็จ จะต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายหน่วยงาน
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยเน้นการทำงานเชื่อมโยงร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นหลักในการทำงานเชิงรุก ใช้ความเชี่ยวชาญเป็นเครือข่ายให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลอนามัยเจริญพันธุ์แก่เด็กนักเรียน ส่วนสถานบริการสาธารณสุข ให้บริการเชิงรับ ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดฯทั่วประเทศ ได้ตั้งคลินิกบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและใช้บริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ง่าย เร็ว อบอุ่น และปลอดภัย จากการรับฟังผลการดำเนินงานของรพ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ.2555 พบว่าได้ผลดี อัตราการเข้าถึงและใช้บริการสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ที่คลินิกเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว จาก 108 รายในปี 2556 เพิ่มเป็น 401 ราย ในปี 2557 ปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มขึ้นเกือบ 11 เท่าตัว จากเดิม 18 ราย เป็น 190 ราย โดยเป็นวัยรุ่นร้อยละ 50 และเป็นผู้ที่อยู่นอกพื้นที่อ.ห้วยราชร้อยละ 83 ขณะเดียวกันยังได้รับรายงานว่าโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนคุณธรรมหลายแห่ง เช่นที่โรงเรียนบ้านบุ ต.หนองพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ว่านอกจากจะสามารถสร้างภูมิภูมิคุ้มกันเยาวชนไทย ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด หรือเรื่องเพศได้แล้ว ยังป้องกันปัญหาเด็กนักเรียนตั้งครรภ์ได้ด้วย จึงมั่นใจว่าหากมีความร่วมมือกันทั้งครูกับหมอ และหน่วยงานอื่นๆ อย่างจริงจังแล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า อัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์ สูงขึ้นต่อเนื่อง วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกร้อยละ 20 และร้อยละ80 ของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ ร้อยละ 30 จบด้วยการทำแท้ง จึงได้พัฒนาระบบบริการ โดยจัดตั้งเครือข่าย การดูแลและส่งต่อวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัยในโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 9 โดยใช้ทีมแพทย์อาสาจากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย ใช้ยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ1.สร้างค่านิยมไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยรณรงค์ให้ความรู้ในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้ปกครอง ครู ให้เข้าใจถึงพัฒนาการ พฤติกรรมของวัยรุ่น 2. สร้างค่านิยมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คุมกำเนิดที่ถูกวิธี และประสานความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในการสนับสนุนให้วัยรุ่นเข้าถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสม 3.ให้บริการฝากครรภ์ที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยตั้งใจและตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม แต่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อหลังรับคำปรึกษา เพื่อลดปัญหาเด็กทารกน้ำหนักตัวน้อย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และ4. การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน กรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย รายงานผลการศึกษาวิจัยที่รพ.ห้วยราชเมื่อพ.ศ.2556-2557 พบว่า พบว่าได้ผลดี อัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ต่อกลุ่มประชากรวัยเดียวกันทุก1,000 คน ของอ.ห้วยราช ลดลงจาก 52 ในปี 2556 เป็น 40 ในปี 2557 ความพึงพอใจของผู้รับบริการอยู่ระดับพอใจมากสูงถึงร้อยละ 98 มีบริการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ โดยฝังยาคุมกำเนิดมากที่สุดร้อยละ 51 ปัจจุบันรพ.ห้วยราชมีบริการวัยรุ่นแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวกัน มีบริการปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ทางฮอตไลน์ เฟซบุ๊คคลินิกรพ.ห้วยราช และไลน์ ที่ง่าย เร็ว ลับ และอบอุ่น พ่อแม่กับการพัฒนาทักษะการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรหลานวัยรุ่น ทั้งนี้ที่ผ่านมาผลการเฝ้าระวังในพื้นที่อ.ห้วยราช อัตราการคลอดในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 33 ของการคลอดทั้งหมดในปี 2556 และวัยรุ่นมีปัญหาตั้งครรภ์ซ้ำร้อยละ 12 ในปี 2555 นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
*********************** 13 ธันวาคม 2557