กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพิ่มความก้าวหน้าพยาบาลวิชาชีพ ทั้งด้านบริหาร บริการ และวิชาการ เป็นระดับเชี่ยวชาญ 321 ตำแหน่ง และชำนาญการพิเศษ 11,061 ตำแหน่ง  ในปีงบประมาณ 2558 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ลดปัญหาพยาบาลลาออกจากงานหนักกว่าสายงานปกติ 

          นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการเสนอความก้าวหน้าให้กับกลุ่มพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งทำงานหนักและเป็นวิชาชีพขาดแคลน แต่มีความก้าวหน้าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับข้าราชการในสายงานอื่น ขณะที่ปัญหาความเจ็บป่วยและความต้องการในการดูแลสุขภาพประชาชนมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพยาบาล1คนทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมง สูงกว่าข้าราชการกลุ่มอื่นที่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โดยเฉพาะพยาบาลที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีต้องทำงานวันละ 2 ผลัดรวม 16 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้พยาบาลกลุ่มนี้มีความคิดโอนย้ายและลาออกมากที่สุด

          นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ในการรักษาบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งพยาบาลไว้ในระบบ กระทรวงสาธารณสุขได้ ดำเนินการทบทวนทั้งระบบค่าตอบแทน และการเพิ่มความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพ ในปี 2558 นี้ได้เตรียมการขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นให้แก่พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านบริหาร บริการ และวิชาการ เป็นระดับเชี่ยวชาญ รวม 321 ตำแหน่ง และชำนาญการพิเศษ 11,061 ตำแหน่ง  ขณะนี้ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติในหลักการแล้วและขั้นตอนต่อไปกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

          ด้านดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักการพยาบาล ได้จัดประชุมคณะกรรมการจากทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข และนำผู้แทนจากก.พ. ศึกษาวิเคราะห์ในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายงานพยาบาล 2 ระดับ คือระดับเชี่ยวชาญและระดับชำนาญการพิเศษ ได้ข้อสรุปว่า ในระดับเชี่ยวชาญ จะกำหนดให้กับ 1.หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 150 เตียงและอัตราครองเตียงร้อยละ 80 จากเดิมที่มีเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 300 เตียงที่มีอัตราครองเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 2.พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญ ด้านบริการพยาบาล ในรพศ.และรพท. จากเดิมมี 5 ด้าน คือ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยวิสัญญี ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และผู้คลอด จะเพิ่มอีก 8 ด้าน ได้แก่อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม สูติกรรม จิตเวช ศัลยกรรมกระดูก การพยาบาลในชุมชน และการพยาบาลโรคติดเชื้อ 3.พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านวิชาการพยาบาล ในรพ.ที่เป็นสถาบันร่วมผลิตพยาบาลหรือฝึกอบรมเฉพาะทางหลักสูตร 4 เดือนขึ้นไปของโรงพยาบาลใหญ่

          สำหรับระดับชำนาญการพิเศษ ได้เพิ่มให้หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลที่จำนวนเตียงน้อยกว่า 150 เตียงและอัตราการครองเตียงน้อยกว่าร้อยละ 80 หัวหน้ากลุ่มงาน/หัวหน้างาน ที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาตามเกณฑ์ที่ก.พ.กำหนดคือ 1 ต่อ 4 หรือวิชาชีพกำหนด และกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ให้แก่หัวหน้าหอผู้ป่วย หัวหน้าทีมการพยาบาล และผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลวิชาชีพมีขวัญกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น      ************************ 30 พฤศจิกายน 2557

 



   
   


View 14    30/11/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ