กระทรวงสาธารณสุข สั่งทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ ตลอดฤดูหนาว เน้นหนักในพื้นที่ที่เคยพบคนหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ และจังหวัดแนวชายแดน ย้ำเตือนประชาชนห้ามนำเป็ดไก่รวมทั้งนกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด หากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย ให้รีบพบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
          จากกรณีที่มีรายงานพบไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช5 เอ็น 8 (H5N8) ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2557  มีการทำลายไก่ 150,000 ตัว และห้ามขนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งไข่ และมูลสัตว์ปีก เป็นเวลา 72 ชั่วโมงนั้นความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้(18 พฤศจิกายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์   ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 8 โดยไทยพบเพียงสายพันธุ์เอช 5 เอ็น1 (H5N1) ในช่วงปี 2546-2549 และไม่พบอีกเลยจนถึงขณะนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดไข้หวัดนก โดยเฉพาะสายพันธุ์เอช  5 เอ็น 1 เนื่องจากหลายพื้นที่อากาศหนาวเย็น และเริ่มมีนกอพยพหนีสภาพอากาศหนาวจากต่างประเทศมาอยู่ไทย อาจนำเชื้อมาแพร่ได้ และในปี 2557 ยังพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า   ได้มอบให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  เฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก และจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ไทย-ลาว และไทย – พม่า โดยให้ดำเนินการเฝ้าระวังทั้งในชุมชน และในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถตรวจจับโรคได้อย่างรวดเร็ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัยให้สอบสวนโรค ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกทุกราย และเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ส่วนในสัตว์ปีกให้ อสม.ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเฝ้าระวังการป่วย ตายผิดปกติในสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านเรือนและธรรมชาติ หากพบให้เก็บซากสัตว์ปีกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีและแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข
 
ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานผลการเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลกซึ่งพบว่า จนถึงปัจจุบันมีเชื้อไข้หวัดนกที่สามารถแพร่เชื้อมายังคนได้ 7 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) เอช 5 เอ็น 2 (H5N2) เอช 10 เอ็น 8 (H10 N 8) เอช 7 เอ็น 5(H7N5) เอช7 เอ็น7 (H7N7) เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) และเอช 5 เอ็น 8 โดยที่รุนแรงที่สุดคือสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว  ขณะนี้ยังพบในประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยยืนยัน ตั้งแต่ปี 2546-2557 มีทั้งหมด 668 ราย เสียชีวิต 393 ราย ใน16 ประเทศ เฉพาะในปี 2557 มีรายงานป่วย 19 ราย เสียชีวิต 8 รายใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
 
          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน  ให้ยึดหลักปฏิบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้ หากพบสัตว์ปีกเสียชีวิตผิดปกติขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก ให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก  หากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่นมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง  
 
 ********************************** 18  พฤศจิกายน  2557
 


   
   


View 8    18/11/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ