พยาบาลประจำหอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นำภูมิปัญญาไทยมาใช้หนุนหญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ 6 เดือน โดยเฉพาะแม่มือใหม่ โดยใช้ใบกะหล่ำปลีแช่แข็งมาประคบเต้านม เพื่อลดอาการเจ็บปวดจากอาการคัดตึงเต้านมแม่หลังคลอด พบว่าได้ผลดี เนื่องจากใบกะหล่ำปลีรูปร่างกระชับกับเต้านม มีสารช่วยลดอาการบวมเนื้อเยื่อ และอาการเจ็บปวดได้ แต่ไม่ควรทำเกินวันละ 3 ครั้ง
 
นางสาวปัณฑิตา ศรีจันทร์ดร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “กะหล่ำปลีมีคุณค่า ลดอาการปวด แก้อาการคัดนมหลังคลอด” ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ ว่า การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวดจากอาการคัดตึงเต้านมในหญิงหลังคลอดบุตร ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดไม่ต่ำกว่าร้อยละ60 เนื่องจากจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จนทำให้แม่ต้องหยุดให้นมลูก ที่พบบ่อยที่สุดได้แก่อาการคัดตึงเต้านม เจ็บหัวนมพบร้อยละ 25 นอกจากนี้อาการคัดตึงเต้านมยังเป็นสาเหตุทำให้หัวนมแตก เต้านมอักเสบและเต้านมเป็นฝี ทำให้แม่เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง จนปฏิเสธให้นมลูก ในไทยพบอาการคัดตึงเต้านมใน 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอดในแม่ที่มีลูกคนแรกมากถึงร้อยละ 40 สำหรับที่โรงพยาบาลนครพิงค์ในปี 2554-2555 พบสถิติแม่หลังคลอดมีอาการคัดตึงเต้านมในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดเฉลี่ยร้อยละ 14 บางรายเลิกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่   ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะหาวิธีบรรเทาอาการปวด คัดตึงเต้านม
 
ผู้วิจัยกล่าวต่อว่า การศึกษาครั้งนี้ได้นำภูมิปัญญาไทยคือ ใบกะหล่ำปลีสดซึ่งเป็นผักที่หาได้ง่าย และใบมีลักษณะโค้งรับกับเต้านม มาใช้บรรเทาอาการอาการคัดตึง ปวดเต้านมแม่หลังคลอด โดยใช้ใบกะหล่ำปลีสีเขียว ตัดขั้วแข็งออกก่อน แล้วแกะใบกะหล่ำปลีออก เลือกใบที่มีขนาดใกล้เคียงกับเต้านม จากนั้นล้างด้วยน้ำให้สะอาด หรือแช่ด้วยน้ำส้มสายชูเพื่อล้างสารพิษ จากนั้นนำใบกะหล่ำปลีแช่เย็นที่ช่องแช่แข็ง ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที และก่อนนำไปประคบเต้านม ขยุ้มใบกะหล่ำปลีด้วยมือเบาๆ แกะเอาเส้นใยที่แข็งออก ใช้มีดบากหรือใช้เข็มแทงตามใบกะหล่ำปลีเพื่อให้เส้นใยแตก แล้วนำไปหุ้มเต้านมทั้งเต้าและอาจถึงบริเวณใต้รักแร้ถ้ามีก้อนบวมขึ้นใต้รักแร้ สวมเสื้อชั้นในปิดทับ หรือใช้ผ้าพันทับไว้ประคบเวลาประมาณ 20 นาที
 
จากการศึกษาการใช้กับหญิงหลังคลอด 20 คนในปี 2555 ระหว่างเดือนเมษายน–มิถุนายน พบว่าคะแนนความเจ็บปวดเท่ากับ 3.05 คะแนนจาก 10 คะแนน ความเจ็บปวดมีน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ไม่ได้ใช้ใบกะหล่ำปลีในเดือนธันวาคม 2554 – กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน34 คน พบว่ามีคะแนนความเจ็บปวดเต้านมเท่ากับ 3.53   
 
ผู้วิจัยกล่าวต่ออีกว่า การประคบเต้านมด้วยใบกะหล่ำปลีสด สามารถลดอาการอักเสบ ลดอาการคัดตึงเต้านมระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงได้ เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณ ทั้งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการระคายเคือง เนื่องจากมีสารไฟโตเอสโตเจน (Phytoestogen) ทำให้ลดอาการบวมของเนื้อเยื่อ นอกจากนี้พบว่าความเย็นจากใบกะหล่ำปลี ทำให้เส้นเลือดหดตัว ลดการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้อาการบวมลดลง และความเย็นทำให้การรับความรู้สึกเจ็บปวดของใยประสาทขนาดเล็กมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้การนำกระแสประสาทรับความเจ็บปวดลดลง โดยการแพทย์แผนไทยจัดให้กะหล่ำปลีเป็นพืชสมุนไพร ชนิดเย็น มีฤทธิ์ดูดซับความร้อน ช่วยลดการคั่งของสารน้ำในเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม ทำให้อาการปวดคัดตึงเต้านมลดลง แต่ไม่ควรทำมากกว่า3 ครั้งต่อวัน เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง และควรหยุดใช้เมื่อมีผื่นขึ้นหรือมีอาการแพ้
 
**************************    15 พฤศจิกายน 2557


   
   


View 20    15/11/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ