สธ. ปรับ 5 มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับมือฝุ่น PM 2.5 เน้นสื่อสารความรู้ ดูแลกลุ่มเสี่ยง จัดอุปกรณ์สนับสนุน พร้อมเชิญชวน “ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”
- สำนักสารนิเทศ
- 169 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข คงมาตรการเฝ้าระวังและความพร้อมสถานพยาบาลในการดูแลรักษาหากพบผู้สงสัย ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการชันสูตรพลิกศพและการดูแลจัดการศพ รวมทั้งคู่มือการกำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สร้างความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน เตรียมเสนอของบกลางรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาต่อเนื่อง ผลการเฝ้าระวังยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ
วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคนี้ต่อเนื่อง ทั้งมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ที่เดินทางมากจากพื้นที่ระบาด ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ และในชุมชนที่มีชาวต่างชาติในพื้นที่ระบาดอาศัยอยู่ในไทยทุกวัน จนถึงวันนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ พร้อมเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในการดูแลรักษาหากพบผู้ป่วยต้องสงสัยหรือติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยอบรมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันการติดเชื้อตามแนวทางการปฏิบัติงานของกรมการแพทย์ครบทั้ง 4 ภาค ตรวจมาตรฐานห้องแยกดูแลผู้ป่วย และห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลศูนย์ในต่างจังหวัด 15 แห่ง และในกทม. 5 แห่ง ขณะนี้ความคืบหน้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ได้ตั้งคณะทำงานด้านวิชาการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างแนวทางการจัดการชันสูตรพลิกศพและการดูแลศพผู้เสียชีวิตที่สงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งกรณีเสียชีวิตในโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล โดยจะเชิญแพทย์นิติเวช จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกันพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากในการทำงานจะมีผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย หน่วยชันสูตรศพ หน่วยนิติเวช จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน นำไปใช้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และได้ให้กรมอนามัย เร่งจัดทำคู่มือแนวทางการกำจัดขยะติดเชื้อ กรณีสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมข้อเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาของประเทศไทยอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ยุติ ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในประเทศอาฟริกาตะวันตก 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเวียร์ราลีโอน โดยองค์การอนามัยโลกรายงานจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาใน 6 ประเทศอาฟริกา สเปน และอเมริกา รวม 13,567 ราย เสียชีวิต 4,951 ราย
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด หากมีไข้ขอให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง และติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามระบบการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
************************** 3 พฤศจิกายน 2557