นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปประชุมร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพหรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) พร้อมด้วยนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ  ที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2557 ว่า การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพของประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมมือพัฒนาระบบการลงทุนด้านสุขภาพ  ให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง มีการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ หากหลายประเทศนำเป็นแบบอย่างไปใช้ เชื่อว่านอกจากทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์แล้ว ยังทำให้เกิดระบบธรรมาภิบาลที่ดีในระดับนโยบายด้วย  โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ระหว่างพ.ศ.2557-2562

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า  ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากผู้แทนของรัฐบาลอังกฤษหลายหน่วยงานที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ เช่น  ดร. จูเลี่ยน วัตสัน ผู้แทนจากองค์การส่งเสริมการพัฒนาในต่างประเทศ  (Department for international Development : DFID ) ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา ระบุว่าความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการจากไทยกับหน่วยงานของอังกฤษในครั้งนี้ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการช่วยเหลือประเทศยากจนจากรูปแบบเดิมที่ให้คำแนะนำและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องๆ มาเป็นการพัฒนาหน่วยงานของรัฐบาลแก่ประเทศเหล่านั้นให้มีขีดความสามารถ ในการค้นหาและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพ  เพื่อสร้างมาตรการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า  จากการประชุมครั้งนี้ คณะผู้บริหารของไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในประเทศอังกฤษ  ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบสุขภาพของไทย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสร้างมากกว่าการซ่อมสุขภาพ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงท้องถิ่น ซึ่งเป็นทิศทางที่เหมือนกันทั้งสองประเทศ

          ทางด้านนายแพทย์เดวิด อัสลัม ประธานสถาบันไนซ์  กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในการช่วยกันทำงานด้านวิชาการ โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องลงทุนด้านงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษและองค์กรนานาชาติอื่นๆเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสนับสนุนให้แก่ประเทศที่มีทรัพยากรสุขภาพจำกัด  เพื่อให้มีขีดความสามารถในการคัดเลือกยา วัคซีน   ตลอดจนมาตรการด้านสาธารณสุขและการป้องกันโรคจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างของจริงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในการดำเนินงานเรื่องนี้       ทั้งนี้ภายใต้การลงนามครั้งนี้ สถาบันไนซ์และองค์การส่งเสริมการพัฒนาในต่างประเทศของอังกฤษจะสนับสนุนและเป็นเจ้าภาพร่วมกับรัฐบาลไทยและองค์กรระดับโลกอื่นๆ ในการจัดงานประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2559 ในหัวข้อการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

*************************************  31 ตุลาคม 2557



   
   


View 18    31/10/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ