รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันการปรับระบบกลไกการเงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาบนพื้นฐานข้อมูล เพื่อใช้งบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนไทยได้รับบริการสุขภาพที่ดี เร่งคณะอนุกรรมการการเงินการคลังฯ หารือให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน เพื่อใช้ในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2558

วันนี้ (30 ตุลาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วย อาทิ โรคไต มะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เข้าพบ เพื่อขอให้ยุติความขัดแย้งในการบริหารงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับการจัดบริการในระบบสุขภาพ และมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับการจัดบริการรักษาผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ว่า ในเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการต่อไปแน่นอน เพราะเป็นไปตามกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองการประกันสุขภาพคนไทยประมาณ 47 กว่าล้านคนที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลใด ให้ได้รับการดูแลทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟู ดำเนินการมากว่า 10 ปี เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งการรักษาพยาบาลจะดูแลรักษาตั้งแต่ระดับเบื้องต้นจนถึงโรคที่ต้องได้รับการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน และเพิ่มสิทธิประโยชน์มาเป็นระยะๆ จะต้องพัฒนาระบบให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ปรับเปลี่ยนกลไกทางการเงินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการดำเนินงานมาแล้วกว่า 10 ปี ฝ่ายผู้จัดบริการอาจมองเห็นจุดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ได้ให้นโยบายไว้ว่า ในการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารระบบการเงินนั้น จะต้องรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน เพียงแต่ขอให้หารือกันโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับว่ามีเหตุผลใดรองรับ และเมื่อปรับแล้วจะมีผลดีต่อประชาชนอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป อยู่ในขั้นตอนการหารือกันเพื่อปรับการบริหารจัดการการเงิน ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการการเงินการคลังของสปสช.ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน และมีดร.คณิศร์ แสงสุพรรณ เป็นประธาน โดยอาจเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก ได้เร่งรัดคณะอนุกรรมการการเงินการคลังให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน เพื่อใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2558 โดยในไตรมาสแรกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติให้ดำเนินการเหมือนที่เคยปฏิบัติมา

“ยืนยันว่าเรื่องนี้จะพิจารณาจนได้ข้อยุติ โดยอยู่บนพื้นฐานใช้หลักฐานข้อมูล ไม่ใช้ความรู้สึก เพื่อใช้งบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนไทยได้รับบริการสุขภาพที่ดี ซึ่งทุกฝ่ายทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีความเห็นตรงกันว่า จะทำให้เกิดความร่วมมือกันให้มากระหว่างโรงพยาบาลทุกระดับ ให้สามารถบริการประชาชนได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษาในกทม. หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล โดยจะพัฒนาระบบบริการทั้งระบบและโรงพยาบาลทุกระดับ”ศ.นพ.รัชตะกล่าว

ตุลาคม8/2  *************************************  30 ตุลาคม 2557

 



   
   


View 26    30/10/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ