กระทรวงสาธารณสุข ส่งผู้บริหารออกติดตามเยี่ยมนักศึกษาจากชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด ดูแลการปรับตัวทั้งของนักศึกษาและวิทยาลัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพสำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้
แพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงนักศึกษาพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ชายแดนใต้ 3,000 คน อย่างมาก เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 เป็นไทยมุสลิม เมื่อต้องไปศึกษาและพักอยู่ในหอพักของวิทยาลัยพยาบาล ซึ่งบางแห่งไกลบ้านมากๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน จะมีความแตกต่างทั้งทางภาษาและวัฒนธรรมค่อนข้างมาก ทำให้นักศึกษาไม่คุ้นเคยและอาจมีปัญหาในการปรับตัวได้ จึงได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารส่วนกลาง ออกเยี่ยมติดตามความเป็นอยู่ของนักศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิงทิพย์วดี กล่าวต่อว่า การรับนักศึกษาจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ นอกจากนักศึกษาจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมที่สถานศึกษาตั้งอยู่แล้ว ในส่วนของวิทยาลัยพยาบาลเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนักศึกษาเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา วิทยาลัยพยาบาลจะรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การตรวจเยี่ยมวิทยาลัยพยาบาลที่รับนักศึกษาชายแดนใต้แต่ละครั้ง จึงเท่ากับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนการจัดการเรียนการสอนของแต่ละแห่ง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชนต่อนักศึกษามากที่สุด เนื่องจากนักศึกษาพยาบาลในโครงการนี้ เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยค่อนข้างมาก ทั้งจากความยากลำบากในการเข้าถึงบริการและความขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข
สำหรับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด 95 คน เป็นชาย 8 คน และหญิง 87 คน มีอายุระหว่าง 18-30 ปี นับถือศาสนาอิสลาม 64 คน ศาสนาพุทธ 30 คน และคริสต์ 1 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาที่จบปริญญาตรีในสาขาอื่นแล้ว 25 คน แต่มีความต้องการที่จะเป็นพยาบาลวิชาชีพไปดูแลรักษาพยาบาลคนในพื้นที่ ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกนี้ ทางวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาได้ปรับตัวก่อน โดยเน้นการทัศนศึกษาเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับประวัติศาสตร์ชาติไทย พาไปเยี่ยมชมชุมชนมุสลิมของจังหวัดต่างๆ และจะเริ่มจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของทุกวันศุกร์ วิทยาลัยจะไม่จัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กได้ไปประกอบศาสนกิจที่มัสยิด ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 5 กิโลเมตร
ส่วนที่วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ในปี 2550 นี้ ได้รับนักศึกษาพยาบาลทั้งหมด 124 คน เป็นนักศึกษาภาคปกติ 70 คน และนักศึกษาในโครงการฯ 54 คน เป็นชาย 5 คน และหญิง 49 คน ขณะนี้ได้จัดที่พักชั่วคราวให้นักศึกษาหญิงโดยใช้ห้องสวดมนต์และศูนย์เด็กเล็ก ส่วนนักศึกษาชายให้เลือกเช่าหอพักข้างนอก โดยวิทยาลัยออกค่าเช่าให้ หลังจากอาคารหอพักขนาด 6 ชั้นสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 2550 นี้ จะจัดให้นักศึกษาทุกคนได้พักร่วมกันต่อไป ส่วนเรื่องอาหารได้จ้างแม่ครัวมาทำให้ต่างหาก โดยซื้ออาหารสดจากแม่ค้าที่เป็นมุสลิม สำหรับการเรียนการสอน นอกจากช่วง 2 สัปดาห์แรกจะจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กคุ้นเคยและปรับตัวได้แล้ว ยังได้จัดอาจารย์ประจำชั้นดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษตลอดช่วงเทอมแรก เพื่อให้เด็กเรียนทันกับเพื่อนร่วมรุ่นที่สอบเข้าเรียนตามระบบปกติ
กรกฎาคม3/7 ********************************** 10 กรกฎาคม 2550
View 23
10/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ