รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วนของไทย  และแผนการเตรียมระดมส่งความช่วยเหลือ ด้านต่างๆไปยังแอฟริกาตะวันตก พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเคร่งครัดขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานที่กำหนด ภายหลังมีบุคลากรสาธารณสุขในต่างประเทศ ติดเชื้อจากขั้นตอนการถอดชุดป้องกันการติดเชื้อ

บ่ายวันนี้( 14 ตุลาคม 2557) ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล กทม.ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ รวมทั้งเห็นชอบแผนการส่งความช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิ เงินช่วยเหลือ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพิ่มเติมให้แก่ 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกคือกินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอนตามการร้องขอขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า แม้โอกาสที่โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทยจะมีน้อยก็ตาม  แต่จะต้องอยู่บนความไม่ประมาท  กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งในคนและในสัตว์ ติดตามสถานการณ์การระบาดโรคนี้อย่างใกล้ชิด และได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เจ้าหน้าที่พนักงานสาธารณสุขมีอำนาจในการคัดกรองและติดตามผู้เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงปัจจุบันคัดกรองผู้เดินทางไปแล้ว 2,126 ราย ทุกรายมีสุขภาพดี จนถึงขณะนี้ยังไม่พบ การติดเชื้อโรคนี้ในประเทศไทย 
 
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งวิทยาลัยแพทย์ เอกชน รวมทั้งองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา วางระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคที่รวดเร็ว รวมทั้งวางระบบการรักษาและการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ  โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 5 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์  มีระบบการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่โรงพยาบาล รวมทั้งในชุมชน 2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีการเตรียมห้องแยกผู้ป่วยการดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางมาตรฐาน รวมถึงการควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด 3.การพัฒนาระบบการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับผิดชอบร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการของประเทศ  สามารถตรวจยืนยันเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง
 
4.การสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการป้องกันโรค ตลอดจนสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 80  มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา  และ5.การบริหารจัดการแบบบูรณาการหลายภาคส่วนโดยมีศูนย์ประสานปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่กรมควบคุมโรค ซึ่งบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถประสานสั่งการ เชื่อมโยงการทำงานทั้งประเทศ กรณีพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมพร้อมระบบรับส่งต่อผู้ป่วย ฝึกซ้อมแผนใน 30  จังหวัด ที่มีความเสี่ยงที่อาจมีผู้เดินทางจากเขตติดโรค เข้ามายังประเทศไทยทั้งทางอากาศ ทางบกและทางเรือ สร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยมีพร้อมรับมือหากมีผู้ติดเชื้อเข้ามา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่  8 ตุลาคม 2557  มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลารวม 8,399 คน เสียชีวิต 4,033 คน หรือประมาณร้อยละ 50 โดยประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน มีสถานการณ์รุนแรงที่สุด ยังมีการระบาดในวงกว้าง  ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสเปนที่มีรายงานบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเกิดจากจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการถอดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยเข้มงวดขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานที่กำหนด  ให้พึงระวังแม้จะมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อทีมีประสิทธิภาพ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

สำหรับประชาชนมีส่วนสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยขอความร่วมมือหากไม่จำเป็นเร่งด่วน ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอีโบลา และหากเดินทางกลับมาหรือพบเห็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากเขตติดโรคและป่วยภายใน 21 วัน ให้ไปที่โรงพยาบาลและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที เพื่อเข้าระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค และหากป่วยจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาทันที ซึ่งทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ติดต่อทางหายใจ การติดต่อโดยหลักจะเป็นการติดต่อโดยการสัมผัสเลือด น้ำเหลืองหรือสารคัดหลั่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงมากกลุ่มหนึ่งคือแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข 

ตุลาคม3/7-8 ******************************* 14 ตุลาคม 2557

 

 



   
   


View 8    14/10/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ