สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 158 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุดไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปใกล้ 10 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 5 ร่างกายยังแข็งแรง ที่เหลือกว่า 9 ล้านคนมีโรคประจำตัว ในจำนวนนี้เกือบ 2 แสนคนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงคนในครอบครัว เร่งจัดระบบการดูแลสุขภาพให้ผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข จัดทำสมุดคู่มือบันทึกสุขภาพประจำตัว จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในทุกตำบล และผลักดันเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ใช้ชีวิตอย่างราบรื่น เริ่ม 2 แห่งแรกที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และเทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าและให้ความสำคัญการดูแลใส่ใจกับผู้สูงอายุ โดยในปี 2556 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 841 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 1,400 ล้านคนในอีก 16 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่ผู้สูงอายุมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะวัยแรงงานจะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นในการดูแล รวมทั้งการรักษาพยาบาล
สำหรับประเทศไทย พบว่าผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นตามอายุขัย ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2557 มีผู้สูงอายุ 9.93 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด และผลสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 14,000 คนใน 28 จังหวัด โดยกรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปี 2556 พบว่า ผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงมีเพียงร้อยละ 5 หรือประมาณ 5 แสนคน ที่เหลือกว่า 9 ล้านคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า ข้อเข่าเสื่อม ในจำนวนนี้ประมาณ 2 แสนคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่ติดบ้านติดเตียง ต้องมีผู้ดูแล และยังพบผู้สูงอายุร้อยละ 8 หรือประมาณ 8 แสนคนที่อยู่บ้านคนเดียว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน โดยเน้นให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในชุมชนและครอบครัวอย่างมีความสุข รับบริการใกล้บ้าน จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล ได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน จัดคลินิกบริการผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะทั้งด้านกายและจิต ปรับสภาพโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นอาคารแบบอารยสถาปัตย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย เช่นห้องน้ำ ใช้ส้วมนั่งราบและมีราวจับ ปรับทางขึ้นลงให้เป็นทางลาดแทนบันได และเน้นการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อจัดกลุ่มดูแลอย่างเหมาะสม
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ กรมอนามัยได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทั่วประเทศ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง รวมทั้งข้อเข่าเสื่อมซึ่งพบเป็นจำนวนมาก โดยได้จัดทำสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุให้ทุกจังหวัดทดลองใช้จำนวน 3 แสนเล่ม สมุดเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ผู้สูงอายุและลูกหลานช่วยประเมินความเสี่ยงสุขภาพ และเป็นคู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ใช้ติดตามบันทึกผลการตรวจสุขภาพที่สำคัญ คือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สุขภาพช่องปาก สุขภาพจิต สมอง สายตา รายงานการเยี่ยมบ้าน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็นเช่น ไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก เป็นต้น โดยจะประเมินผลประมาณเดือนเมษายน 2558 เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์และใช้ทั่วประเทศ
ในส่วนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยสนับสนุนให้เกิดต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานในชุมชน ได้เริ่มศึกษารูปแบบและพัฒนาตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 2,000 เทศบาล/ตำบล ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,300 แห่ง และให้ครอบคลุมทุกตำบลในปี 2564 โดยตำบลต้นแบบจะมีระบบข้อมูลผู้สูงอายุในตำบลทั้งที่ปกติและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีทีมสหวิชาชีพสาธารณสุขดูแลเยี่ยมบ้านกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ร่วมกับทีมอาสาสมัครและญาติ มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุในตำบล และมีระบบส่งต่อไปรับการดูแลในโรงพยาบาลเมื่อจำเป็น
นอกจากนี้ ยังได้เริ่มนำร่องโครงการเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และเทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี ดำเนินการระหว่างพ.ศ. 2557-2559 เพื่อพัฒนาเมืองให้รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุรวมทั้งผู้พิการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้บริการตามสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล รถประจำทางมีทางขึ้นและที่จอดรถนั่งผู้พิการ ส่งเสริมงานให้ผู้สูงอายุมีรายได้และเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขและรู้สึกภาคภูมิใจ และขยายผลต่อไปยังเทศบาลนครที่มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้หลายประเทศดำเนินการแล้วได้ผลดี เช่นญี่ปุ่น สวีเดน อังกฤษ เป็นต้น
ทั้งนี้ เรื่องที่จะต้องเร่งแก้ไขคือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพื่อชะลอความเสื่อมของร่างกาย ได้แก่ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานผักสดผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 26 ที่สามารถทำได้ ตั้งเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 30 ในปี 2558 และร้อยละ 50 ในปี 2564
********************************* 1 ตุลาคม 2557