กระทรวงสาธารณสุข เผยจำนวนผู้เสยชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ ลดลงกว่า 92 เท่าตัว ในรอบ34 ปี เร่งผลักดัน 3 มาตรการหลักกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยให้สำเร็จภายในปี 2563 โดยใช้พลังการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ และความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน แนะวิธีป้องกันโรคได้ผลขอให้ประชาชนนำสุนัข แมวเลี้ยงทุกตัว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค แนะหากถูกสัตว์กัดหรือข่วน อย่าชะล่าใจ ให้รีบล้าง         ทำความสะอาดแผล และพบแพทย์ เผยสถิติปี 2557 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 4 ราย 

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 28 กันยายน ทุกปี องค์การอนามัยโลก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก(World Rabies Day)เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศเร่งแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า จำนวนคนเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 หน่วยงานหลักได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ดำเนินการรณรงค์มาตั้งแต่พ.ศ. 2550  ในปีนี้ใช้คำขวัญว่า “ร่วมแรง ร่วมใจ ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อย้ำเตือน กระตุ้นให้ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า

          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรง ไม่มียารักษา   เมื่อมีอาการป่วยแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 60,000  คน ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอาฟริกาและเอเชีย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก โดยถูกสุนัข หรือแมวกัดหรือข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา  ที่ถูกต้องรวดเร็ว และครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด ในส่วนของประเทศไทย แนวโน้มมีผู้เสียชีวิตลดลง ในปี 2557 สำนักระบาดวิทยา รายงานตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ที่จังหวัดสงขลา ปราจีนบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งลดลง 92 เท่าตัว จากที่เคยพบสูงสุดในปี 2523 จำนวน 370 ราย ดังนั้นในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตั้งเป้าให้ประเทศจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2563 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกและองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)

          ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สุนัขเป็นสัตว์นำโรคหลักที่แพร่โรคพิษสุนัขบ้ามายังคนและสัตว์อื่น จากรายงานการสอบสวนโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เมื่อถูกสุนัข หรือแมวกัด หรือข่วน แล้วไม่ให้ความสำคัญดูแลล้างบาดแผล และไม่ได้พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ จึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลูกสุนัขกัด  เนื่องจากคือว่าลูกสุนัขไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อมีอาการป่วย จึงเสียชีวิตทุกราย โรคนี้โดยทั่วไปเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-7 เดือน แต่มักมีบางรายอาจสั้นหรือนานกว่านี้

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า จะเน้นหนัก 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การให้ความรู้ประชาชน ให้ยึดแนวปฏิบัติผู้เลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบเลี้ยงอย่างถูกต้องเช่น นำสุนัข แมวเลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี คุมกำเนิดสุนัข หากถูกสุนัขกัด ให้รีบล้างแผลใส่ยา กักสุนัขไว้ 10 วัน และให้พบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบชุดตามแพทย์สั่ง จะป้องกันการเสียชีวิต 2. มาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง หากมีสัตว์ป่วยหรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จะให้อาสาสมัครปศุสัตว์ติดตามดูอาการสุนัขอสม.,เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ติดตามผู้ถูกสุนัขกัดทุกรายให้ได้รับการฉีดวัคซีนต่อเนื่องตามนัดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ส่งควบคุมโรคในสุนัขไม่ให้แพร่กระจาย และ3.บูรณาการควบคุมโรคของหน่วยงานภาครัฐ สร้างเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า บูรณาการควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน  เนื่องจากในช่วงหลังๆนี้ พบโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวชายแดนมากขึ้น เช่นที่เลย เชียงรายจึงได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ เพื่อตั้งรับได้อย่างทันท่วงที และตั้งทีมสอบสวนโรคร่วมกันระหว่างประเทศ หากมีผู้ป่วยเข้ามารักษาภายในประเทศ

ทั้งนี้ สุนัขที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสังเกตได้คือ สุนัขจะมีนิสัยพฤติกรรมเปลี่ยนไปในระยะแรกต่อมาจะมีอารมณ์หงุดหงิด หางตก น้ำลายไหล กัดสิ่งของที่ขวางหน้า ระยะท้ายอาจมีอาการ บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ซึ่งทำให้เจ้าของ เข้าใจผิดจนเอามือไปล้วงที่ปาก คลำหาก้างหรือกระดูก หากพบสุนัขมีอาการดังกล่าว ขอให้นึกถึงโรคพิษสุนัขบ้า และแยกสุนัขไว้ไม่ให้คลุกคลีกับสุนัขอื่นหรือคน และแจ้งปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

ส่วนในคนที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามผิวหนัง โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนที่บริเวณแผลถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์-4เดือน จะมีอาการป่วย บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน  การป่วยจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป ตำแหน่งบาดแผล หากอยู่ใกล้สมอง เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางหรือเข้าสู่สมองได้เร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย หากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ  มีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด. 

                                                                                                  ************** 28 กันยายน 2557



   
   


View 17    28/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ