นักวิชาการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ใช้ภูมิปัญญาไทย รักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและแผลถลอก โดยใช้ใบตองกล้วยอ่อนที่ยังไม่คลี่ มาปิดแผลแทนผ้าก๊อซเคลือบวาสลิน ผลพบว่า สารเคลือบผิวของใบตอง ทำให้เนื้อเยื่อสมานกันได้ดี  แผลหายเร็วขึ้นกว่าการใช้ผ้าก็อซเคลือบวาสลินปิดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ลดความกลัว ความเจ็บปวดผู้ป่วยจากผ้าติดแผล ได้ผลดีมากโดยเฉพาะเด็กๆ

          ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข  ประจำปี 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นางไอยริษา  เสาร์ศิริ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีเซ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ได้นำเสนอผลงาน การรักษาแผลด้วยใบตองอ่อน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น ในระบบบริการประชาชนและประสบผลสำเร็จ ได้ผลดี   สร้างความพึงพอใจ ช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยขณะทำแผลได้เป็นอย่างดี

          นางไอยริษากล่าวว่า ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีเซ มีผู้ป่วยไปรับบริการทำแผล 12-25 ราย  โดยเป็นบาดแผลเปิด แผลถลอกร้อยละ 40 แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ร้อยละ 20 แผลเปื่อยติดเชื้อร้อยละ 25   แผลที่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยมากที่สุดคือ บาดแผลถลอก และแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก เนื่องจากเมื่อปิดผ้าก็อซเคลือบวาสลินบนแผลแล้ว แผลจะแห้งและลอกหลุดยาก ต้องใช้น้ำเกลือล้างแผลช่วยละลายสิ่งคัดหลั่งบนแผลให้ชุ่ม จึงจะลอกผ้าก็อซออกได้ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด กลัวการทำแผล จึงได้ศึกษาภูมิปัญญาวิถีชาวบ้านด้านการดูแลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกและแผลถลอก โดยใช้ใบตองกล้วยใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ใบ มาใช้ปิดบาดแผลแทนการใช้ผ้าก็อซเคลือบวาสลิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลให้แผลหายเร็วที่สุด ลดความเจ็บปวดขณะทำแผล

          จากการศึกษาการใช้ใบตองอ่อนปิดแผลให้ผู้ป่วยที่มีบาดแผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จำนวน 20 ราย พบว่าบาดแผลที่ปิดด้วยใบตอง เนื้อเยื่อมีการสมานกันได้ดี และใบตองอ่อนไม่ติดกับบาดแผล จึงทำให้แผลหายเร็วกว่าแผลที่ปิดด้วยผ้าก๊อซเคลือบวาสลินประมาณร้อยละ 80 โดยบาดแผลถลอกไม่ลึกที่ใช้ใบตองปิด จะหายในเวลาประมาณ 7 วัน หากใช้ผ้าก็อซเคลือบวาสลินปิดจะใช้เวลา 12-14 วัน ส่วนบาดแผลถลอกหรือแผลไฟไหม้ที่มีขนาดลึก การปิดแผลด้วยใบตองอ่อนจะหายประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนแผลที่ใช้ผ้าก็อซเคลือบวาสลินปิดจะหายประมาณ 3-4 สัปดาห์ สร้างความพึงพอใจผู้ป่วยสูงถึงร้อยละ 98 มีอาการเจ็บปวดเล็กน้อยขณะทำแผล โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กจะชื่นชอบมากและไม่กลัวการทำแผลเหมือนที่ผ่านมา ส่วนด้านต้นทุนพบว่า ลดต้นทุนต่อครั้งลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยการใช้ใบตองอ่อนใช้เงิน 18-20 บาท ขณะที่การใช้ผ้าก็อซเคลือบวาสลินใช้ประมาณ 50 บาท

          นางไอยริษากล่าวต่อว่า ในการนำใบตองอ่อนมาปิดแผลนั้น จะต้องตัดให้พอเหมาะกับขนาดแผล  จากนั้นคลี่ใบตองออก ตัดส่วนที่สัมผัสอากาศทิ้งไป จากนั้นใช้กรรไกรสะอาด ตัดใบตองขนาดพอดีกับการปิดบาดแผลสนิท และใช้ไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อใบตองด้านที่มีผิวมันที่จะใช้ปิดแผล โดยเช็ดทางเดียวให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลดีในการฆ่าเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากทำความสะอาดบาดแผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามมาตรฐานแล้ว ขั้นต่อไปคือการปิดแผล จะนำใบตองอ่อนที่ผ่านการเช็ดฆ่าเชื้อ มาปิดลงบนแผล ใช้ผ้าก็อซทำแผลปิดซ้ำข้างบนและติดพลาสเตอร์ยึดไว้ ใบตองอ่อนที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้ต่อได้ โดยตัดเป็นท่อนขนาดพอใช้กับแผล ใส่ในถุงพลาสติก เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสได้นาน 1 เดือน ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับวิธีการทำแผลและปิดแผลด้วยใบตองกล้วยอ่อน ในอนาคตควรมีการศึกษากลวิธีการรักษาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอื่นๆ เพื่อนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและสถานบริการ สืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างรู้ค่าต่อไป 

****************** 11 กันยายน 2557

 



   
   


View 8    11/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ