รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหารเยี่ยมนักศึกษาพยาบาลชาวใต้ ซึ่งร้อยละ 80 เป็นมุสลิม หลังเริ่มชีวิตนักศึกษาในรั้ววิทยาลัยพยาบาลได้ 1 สัปดาห์ พบทางวิทยาลัยจัดเตรียมสถานที่และให้การดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้นักศึกษาใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับหลักศาสนา ทำให้มีปัญหาน้อยมาก ส่วนใหญ่ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และอาจารย์ได้ดี
เช้าวันนี้ (8 กรกฎาคม 2550) ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ชายแดนใต้ 3,000 คน เพื่อให้กำลังใจและติดตามความเป็นอยู่ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการปรับตัวของนักศึกษา เนื่องจากต้องมาใช้ชีวิตอยู่ไกลบ้าน ท่ามกลางความแตกต่างทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า นักศึกษาพยาบาลตามโครงการฯ นี้ เริ่มเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2550 มีนักศึกษามารายงานตัวเข้าเรียน ทั้งหมด 2,953 คน ส่วนที่ยังไม่มารายงานตัวคาดว่าอาจจะเนื่องมาจากเจ็บป่วยหรืออาจจะสละสิทธิ์ ต้องทำการสำรวจอีกครั้ง โดยนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีผู้ชายเพียง 447 คน และร้อยละ 80 เป็นชาวไทยมุสลิม เมื่อต้องกระจายไปอยู่ตามวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 50 คน ไปจนถึงเป็นกลุ่มใหญ่ 200 คน บางส่วนที่ต้องไปอยู่ไกลบ้านมาก เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน อาจมีปัญหาในการปรับตัว จึงได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารส่วนกลาง รวมทั้งอาจารย์พยาบาล ติดตามดูแลนักศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ผู้บริหารและคณาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ที่ต้องรับเด็ก มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือดีมาก ทุกแห่งพยายามจัดเตรียมสถานที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก เช่น จัดห้องสำหรับทำละหมาด แยกห้องครัว บางแห่งไม่สามารถแยกครัวได้ ก็จ้างคนมุสลิมมาทำอาหารขาย โดยทางวิทยาลัยแจกเงินให้เด็กซื้ออาหารเอง และในช่วง 2 สัปดาห์แรกจัดให้มีการปฐมนิเทศก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กด้วย นายแพทย์มงคล กล่าว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า จากการติดตามผลหลังเปิดเรียนแล้ว 1 สัปดาห์ พบว่านักศึกษาส่วนมากสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ และอาจารย์ได้อย่างมีความสุข มีเพียงส่วนน้อยที่คิดถึงบ้าน บางวิทยาลัยอาจมีปัญหาบ้างแต่อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ เช่น ที่นครสวรรค์ สถานที่คับแคบไม่มีหอนอนให้เด็กเพียงพอ ได้เช่าอาคารโรงพยาบาลเก่าทำเป็นหอนอน ส่วนที่จังหวัดพะเยา พบว่ามีนักศึกษาตั้งครรภ์โดยไม่รู้มาก่อน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคเมื่อต้องฝึกภาคปฏิบัติ ก็ให้พักการเรียนไปก่อน
สำหรับที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์ ได้รับนักศึกษาของโครงการฯ ทั้งหมด 95 คน แต่มารายงานตัว 92 คน ปัญหาที่พบคือมีพื้นที่จำกัดเพียง 5 ไร่ ไม่สามารถขยายหรือสร้างตึกใหม่ได้ ทำให้นักศึกษาต้องอยู่กันอย่างค่อนข้างแออัด อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาในวันนี้ พบว่าไม่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวแต่อย่างใด นักศึกษาดูมีความสุขและกระตือรือร้นที่จะเรียนจบเป็นพยาบาลอย่างมาก
******************************** 8 กรกฎาคม 2550
View 12
08/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ