นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายสุขภาพฉบับแรก ที่ผ่านกระบวนการจัดทำที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนมีส่วนร่วม และประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า ได้เรียกประชุมชี้แจงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งประกอบด้วย 6 หมวด 55 มาตรา ได้เปิดวิธีคิดใหม่ว่า สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิต ปัญญา และสังคม จึงเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น และวางกลไกการทำงานให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้การเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์จากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน มีคณะกรรมการ จากฝ่ายการเมือง ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนวิชาชีพสุขภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ รวม 39 คน
ขณะนี้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้สามารถประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมพัฒนานโยบายด้านสุขภาพและกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเช่นเดิม นายแพทย์มงคลกล่าว
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ต่อไปนี้ประชาชนจะเป็นตัวหลักในการกำหนดนโยบายสุขภาพ บุคลากรสาธารณสุขต้องปรับมาเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้กับประชาชน ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับทำงานร่วมกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ปรับบทบาทจากผู้คิดเองทำเองฝ่ายเดียว มาเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ สนับสนุนกระบวนการทำงานต่าง ๆ และเข้าร่วมกับประชาชนในการทำสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่มีผลดีต่อสุขภาพ ผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไปสู่คณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเครือข่ายภาคประชาชน นำไปปฏิบัติในส่วนที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องให้เกิดผลสำเร็จ
ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ คณะกรรมการสรรหา คสช. ที่มีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช กำลังเปิดสรรหาผู้มาเป็น คสช. จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน และจากองค์กรภาคเอกชน 13 คน สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http:www.nationalhealth.or.th หรือติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โทร 0-2590-2304 และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เริ่มจัดให้มีกลไกมาช่วยกันพัฒนาระบบ กลไก และกระบวนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบทิศทางนโยบายระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งมีการทบทวนทุก 5 ปี โดยจะชวนทุกหน่วยงาน นักวิชาการ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมคิด ร่วมทำกันต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นทางการในปี 2551
กรกฎาคม2/7-8 ************************************** 7 กรกฎาคม 2550
View 15
07/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ