ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก 79 แห่ง ใน 20 จังหวัด เตรียมพร้อมแผนการป้องกันน้ำท่วมและบริการประชาชนในภาวะฉุกเฉิน จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบแล้ว 1,146 ราย ส่วนใหญ่ปวดเมื่อย ไม่พบโรคระบาด พบเครียด 21 ราย มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายรวม 5 แห่ง ส่วนที่รพ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย วันนี้เปิดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกได้แล้ว กำลังเร่งฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อเร่งเปิดรับผู้ป่วยในโดยเร็วที่สุด

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้สั่งการกำชับให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากฝนตกหนักตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา  ในช่วงนี้ ซึ่งมีประมาณ 79 แห่งใน 20 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เช่น ตราด เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เป็นต้น  ให้เตรียมวางแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล รวมทั้งน้ำท่วมระบบไฟฟ้าระบบน้ำเสีย การสำรองยา สำรองออกซิเจน แผนการอพยพผู้ป่วย และการปรับแผนการจัดบริการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เจ็บป่วย ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตติดตาม กำกับพื้นที่อย่างใกล้ชิด

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วม มีสถานบริการได้รับความเสียหาย 5 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าซาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่เปา  จังหวัดน่าน 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสบขุ่น อ.ท่าวังผา และจังหวัดลำปาง 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ ทุกแห่งเปิดให้บริการได้ตามปกติ กรณีของโรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ระดับน้ำลดลงเป็นปกติ เจ้าหน้าที่ได้เร่งฟื้นฟูโรงพยาบาลและในวันนี้ได้เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยฉุกเฉิน และเร่งฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียให้ใช้การได้เพื่อให้บริการผู้ป่วยในโดยเร็วที่สุด

สำหรับผลการดูแลสุขภาพประชาชน  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดลำพูน เชียงราย น่าน และพะเยา รวม 13 ทีม จำนวน 12 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งหมด 1,146 ราย ส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำท่วม รองลงมาคือเป็นไข้หวัด ผิวหนังมีผื่นคัน ปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง และจัดทีมเยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยพิการที่อยู่ตามบ้านเพื่อดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัย โดยประเมินสุขภาพจิตทั้งหมด 39 ราย พบเครียดในระดับสูง 21 ราย ทุกรายอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งฟื้นฟูความปลอดภัยภายหลังน้ำลดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำจัดขยะ ล้างตลาดสด ฟื้นฟูระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อที่อาจเกิดตามมาภายหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่ยังไม่มีการระบาด

*************************** 1 กันยายน 2557

 

 



   
   


View 21    01/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ