“สมศักดิ์” เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงเกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.นี้ ห่วง 38 ล้านคนรับผลกระทบ ออก 4 ข้อสั่งการรับมือ
- สำนักสารนิเทศ
- 469 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดระบบรับมือโรคอีโบลา วันนี้ตั้งคณะเชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำด้านการชันสูตรและวินิจฉัยรักษาโรคอีโบลาตามมาตรฐานสากล และตั้งทีมงานโฆษกแถลงข่าวสื่อมวลชน ชี้ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา ในประเทศกำลังสอบสวนผู้เดินทางจากประเทศติดโรค 1 ราย ย้ำสื่อมวลชน ประชาชน อย่าเชื่อข่าวลือในโซเซียลมีเดีย
เย็นวันนี้ (21 สิงหาคม 2557) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ แถลงข่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการรับมือกับไวรัสอีโบลา ทั้งระบบการตรวจเฝ้าระวัง การรักษา การตรวจยืนยันและวินิจฉัยโรคไวรัสอีโบลา โดยได้ตั้งคณะทำงานวินิจฉัยยืนยัน 1 ชุด ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและด้านการแพทย์ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญเป็นประธาน ซึ่งจะให้คำแนะนำในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยทุกรายโดยจะพิจารณาข้อมูลทั้งด้านผลการตรวจทางคลินิก ผลการสอบสวนด้านระบาดวิทยาและผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ขณะเดียวกันจะเตรียมจัดอบรมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ในวันพรุ่งนี้ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในวันนี้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข กำลังสอบสวนผู้เดินทางชาวไทย ที่เดินทางกลับมาจากประเทศติดโรคอีโบลา โดยเดินทางมาถึงที่อากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่ออังคารที่ 20 สิงหาคม 2557 ซึ่งได้รายงานตัวและได้รับการตรวจคัดกรองตามระบบที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ผลการตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีไข้ ได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวและพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อในกรณีที่มีอาการผิดปกติต่อมามีผื่นขึ้นและปวดศีรษะ จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน แพทย์วินิจฉัยเป็นลมพิษ แต่รู้สึกกังวลกับอาการของตัวเองจึงได้ติดต่อกระทรวงสาธารณสุข ทางสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค และกรมควบคุมโรคจึงรับตัวมาเข้ารับการ ดูแลที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งทีมการแพทย์จะได้วินิจฉัยและให้การดูแลตามแนวทางมาตรฐาน เมื่อมีความคืบหน้าก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนติดตามข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ควรเชื่อข้อมูลที่เผยแพร่ทางสื่อโซเซียลมีเดียโดยยังไม่ได้ตรวจสอบ เนื่องจากอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และอาจทำให้ตื่นตระหนกในวงกว้าง ไม่ส่งผลดีต่อประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงข่าวทุกวัน โดยทีมโฆษกของกระทรวงฯ
ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา จะใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานซึ่งรวมถึงการมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ซึ่งขณะนี้มี 4 ประเทศ คือ กินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และ เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ส่วนกรณีผู้สงสัยชาวเวียดนามและพม่ารวม 3 ราย กระทรวงสาธารณสุขกำลังประสานงานตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งประชาชนทันทีเมื่อได้รับผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ
****************************** 21 สิงหาคม 2557