กระทรวงสาธารณสุข ติวเข้มทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่ใน 2 จังหวัดภาคเหนือ ป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล หลังพบ 8 จังหวัดภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดแสนละ 12 คน โดยฆ่าตัวตาย ทุก 2 ชั่วโมง พบว่าการดวดยาดองเหล้าเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2550) ที่โรงแรมกัซซัน จังหวัดลำพูน นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดสัมมนาพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สาขาวิชาชีพต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่และลำพูน กว่า 100 คน เกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยจิตเวชหลังผ่านการบำบัดและออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่ในชุมชน ซึ่งจัดโดยศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบการฆ่าตัวตายเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการตายของประชากรโลก และเป็นสาเหตุการตายลำดับที่ 3 ของวัย 15-35 ปี โดยต่อปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคนหรือเฉลี่ย 1 คนทุก 40 วินาที ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสทำซ้ำ โดยความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรก จะเพิ่มเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ที่ทำร้ายตนเองจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
สำหรับประเทศไทย พบอัตราการฆ่าตัวตายลดลงจากแสนละ 8.6 ในพ.ศ.2542 เหลือแสนละ 5.7 ในปี 2549 โดยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 4,000 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน หรือฆ่าตัวตาย 1 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และแพร่ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด พบแสนละ 12 คน ภาคใต้ต่ำสุดแสนละ 5 คน โดยพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 90 มีโรคทางจิต ร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ โรคซึมเศร้า และใช้สุราร่วมด้วย
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นวาระสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายให้ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลงไม่เกิน 5.4 ต่อแสนประชากร และมอบนโยบายเร่งรัดให้ทุกจังหวัดดำเนินงานป้องกันการฆ่าตัวตายร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เพื่อบำบัดรักษา และพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้สามารถดูแลต่อในชุมชนได้
ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยขณะนี้คาดมีคนป่วยทางจิตแล้วประมาณเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งน่าวิตกมาก เนื่องจากผู้ที่คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางจิต ผลการวิเคราะห์อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในภาพรวม 8 จังหวัดภาคเหนือพบว่า เพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าหญิงสัดส่วน 3:1 ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากที่สุด และใช้วิธีแขวนคอมากที่สุด รองลงมาคือการกินยาฆ่าแมลง ตัวที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายคือ ความน้อยใจ การดื่มเหล้าโดยเฉพาะยาดองเหล้า ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพ ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะแอลกอฮอล์จะมีผลกดการทำงานของระบบประสาท ทำให้การสั่งงานสูญเสียไป ยิ่งคนที่มีอาการทางจิตและกินยาควบคุมอาการอยู่ด้วย หากกินเหล้าซ้ำเข้าไปอีกจะทำให้ ฤทธิ์ยาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางจิตได้เต็มที่
************************************* 6 กรกฎาคม 2550
View 11
06/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ