สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฎิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย และ ประกาศให้ประเทศกินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากลอสของประเทศไนจีเรีย เป็นเขตติดโรคอีโบลา พร้อมมาตรการคัดกรองเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าไทย ผ่านช่องทางเข้าออกทางอากาศ และทางน้ำ รวม 22 แห่ง และเตรียมความพร้อมระบบดูแล รักษา ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นอีโบลา
วันนี้(13 สิงหาคม 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหาร เพื่อติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า การประชุมวันนี้เป็นการทบทวนสถานการณ์การระบาดของโลก ภายหลังที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้อีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมโรค นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาการดำเนินงานของประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฎิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งมีสาระต่อเนื่องกัน ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อ 2.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย และ 4.ประกาศกระทรวงฯกำหนดเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ กินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากลอสของประเทศไนจีเรีย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจนานุเบกษาแล้ว
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอีโบลาของไทยสูงยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้เฝ้าระวัง และตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ที่ท่าอากาศยานและช่องทางเข้าออกทางน้ำ รวม 22 แห่ง โดยใช้วิธีการตรวจคัดกรอง โดยการซักประวัติ วัดอุณหภูมิ เป็นรายบุคคล ซึ่งเหมาะสมกว่าการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกน เนื่องจากมีผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดเพียงวันละประมาณ 10 รายเท่านั้น พร้อมทั้งแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่กำลังมีการระบาด หากไม่มีความจำเป็น จนกว่าการระบาดจะสงบ และเตรียมความพร้อมในระบบการดูแลผู้ป่วย การตรวจหาการติดเชื้อที่รวดเร็ว หากมีผู้ป่วยสงสัยติดเชื้ออีโบลา
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถานการณ์อีโบลา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557ว่า พบผู้ป่วยทั้งหมด 1,848 ราย เสียชีวิต 1,013ราย สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557 – 12 สิงหาคม 2557 ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดทั้ง 4 ประเทศ รวม 483 ราย ทุกคนมีอาการปกติ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ติดต่อทางการหายใจ แต่จะติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง กับเลือดหรือของเหลวจากร่างกายของผู้ป่วย สำหรับกรณีที่องค์การอนามัยโลกเห็นชอบให้นำยาซีแมปป์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลองในสัตว์ มาใช้รักษาผู้ติดเชื้ออีโบลานั้น เป็นการใช้ยาในกรณีพิเศษ เพื่อพยายามช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากขณะนี้การระบาดของเชื้ออีโบลายังเพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย มากที่สุดที่ประเทศไลบีเรีย ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาคาดว่า อาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 – 6 เดือนที่จะควบคุมการระบาด มีข้อสังเกตว่าอัตราการป่วยตายของโรคนี้ มีแนวโน้มลดลง เหลือประมาณร้อยละ 60 คาดว่าเป็นผลจากมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น ****** 13 สิงหาคม 2557