กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนหญิงไทยทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดอย่างเดียว 6 เดือน ชี้ให้ผลดีเด็กได้สารอาหารกว่า 200 ชนิด ผลสำรวจล่าสุด มีแม่ไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอด 6 เดือน เพียงร้อยละ 50เพราะ เข้าใจผิดว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ กังวลนมแม่มีสารอาหารไม่เพียงพอ และต้องกลับไปทำงาน เร่งรณรงค์ให้ได้เป้าร้อยละ60 ภายในปี 2558 เพื่อให้เด็กไทย มีสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัย และสมองดี   

วันนี้(12 สิงหาคม 2557)นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการจัดบริการดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็ก โดยจัดโครงการ ฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณ 8 แสนคนต่อปี มาฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยควรฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และไปรับการตรวจครรภ์ให้ครบ 5 ครั้งตามนัด ซึ่งแพทย์จะติดตามสุขภาพของแม่ และความสมบูรณ์ของเด็กในครรภ์ ที่ผ่านมาพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์อายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์เพียงร้อยละ 52 ส่วนการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ร้อยละ 80 จะต้องเร่งรัดให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์

          นอกจากนี้ ได้เร่งส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน โดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่นผสม และให้นมแม่ร่วมกับอาหารอื่นตั้งแต่ทารกอายุ 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้เด็กได้รับภูมิต้านทานโรค และสารอาหารกว่า 200 ชนิดในน้ำนมแม่ ซึ่งจะช่วยให้ลูกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ข้อมูลกรมอนามัย ล่าสุดในปี 2555 พบมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 48 ส่วนอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของทั่วโลกในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 39 กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าเพิ่มให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558 นี้ เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัย และสมองดี

          ทางด้านดร.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของไทยค่อนข้างต่ำ เกิดจากหลายสาเหตุ โดยผลการศึกษาของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อปี 2556 ในกลุ่มแม่และญาติที่มีบุตรอายุ 6-12 เดือนจาก 5 ภูมิภาค พบว่า สาเหตุที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกันไม่ถึง 6 เดือน อันดับ 1 เกิดจากความเชื่อว่าตนเองมีน้ำนมไม่พอ ร้อยละ 46 รองลงมาได้แก่ กังวลว่านมแม่มีสารอาหารไม่เพียงพอร้อยละ 18 ต้องกลับไปทำงานร้อยละ 17 ที่ทำงานให้กลับไปทำงานร้อยละ 13 แม่ไม่ได้อยู่กับลูกร้อยละ 10 รวมทั้งแม่มีปัญหาด้านสรีระ มีโรคประจำตัว คิดว่าการให้นมแม่เป็นเรื่องยาก เลี้ยงลูกคนก่อนด้วยนมผงแล้วลูกแข็งแรง สถานที่ทำงานไม่เอื้ออำนวย และไม่สะดวกให้นมในที่สาธารณะ จึงทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับนมแม่

          นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะต้องเริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่หลังคลอด น้ำนมที่มาครั้งแรกจะเป็นนมที่มีความสำคัญมากที่สุดในชีวิตเด็ก เพราะจะมีภูมิต้านทานโรคจากแม่นานาชนิด มีลักษณะสีเหลืองใส เรียกว่าโคลอสตุม ยิ่งดูดได้มากเท่าไหร่จะยิ่งเป็นผลดี ช่วยให้เด็กแข็งแรง และจะกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตออกมามากขึ้น โดยคุณภาพของน้ำนมแม่จะขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป สมองเด็กจะพัฒนาการเร็ว

                                                                                                         

ที่สุดในขวบปีแรกของชีวิต หากแม่ได้รับอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เด็กก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ และมีสติปัญญาดี รวมทั้งการอุ้มกอดสัมผัสตัวขณะดูดนมจากอกแม่ จะช่วยให้ลูกได้รับความอบอุ่นและเกิดสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างแม่ลูกอีกด้วย   

          ทั้งนี้ ข้อแนะนำที่ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องง่ายและมีน้ำนมเพียงพอ ให้ยึดหลัก 4 ดูด  สูตรให้นมแม่ได้สำเร็จ คือ 1.ดูดเร็ว ควรให้ลูกดูดนมตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ 2.ดูดบ่อย ทุก 2 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยวันละ 9 ครั้ง จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วขึ้นและมีมากขึ้น 3.ดูดถูกวิธี คือลูกดูดลึกถึงลานนม เพื่อให้เหงือกลูกกดรีดลงบนกระเปาะน้ำนมใต้ลานนม ลิ้นอยู่ใต้ลานนม ริมฝีปากของลูกไม่เม้มเข้า ขณะดูดเหงือกจะขยับเข้าหากันกดบนลานนมเป็นจังหวะ แก้มป่องทั้งสองข้าง และได้ยินเสียงกลืนน้ำนมเบาๆ และ 4.ดูดเกลี้ยงเต้า คือให้ลูกดูดนมแม่จนเต้านิ่มในเต้าแรก ถ้าลูกน้อยไม่อิ่มให้ดูดนมแม่อีกข้างที่เหลือจนกว่าจะอิ่ม แล้วในมื้อต่อไปควรเริ่มจากเต้าที่ดูดค้างไว้  เพื่อให้ลูกได้รับคุณค่าของนมแม่อย่างครบถ้วน จากส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้ายของน้ำนมแม่ โดยทั่วไปให้ลูกดูดนมแม่ 8-12 ครั้งต่อวัน และดูดข้างละไม่ต่ำกว่า 10-20 นาที

          นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า แม่มือใหม่มักมีความกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอให้ลูกดูด โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอดที่น้ำนมแม่ยังมาไม่มากนัก ในการสังเกตว่าลูกได้นมเพียงพอดูได้จากเต้านมแม่จะคัดตึงก่อนให้นมและนิ่มลงหลังให้นมแม่แล้ว รู้สึกว่ามีนมไหลออกมา ส่วนลูกจะมีเสียงกลืนนม ใน 24 ชั่วโมงจะปัสสาวะ 6 ครั้งขึ้นไปและอุจจาระ 4-8 ครั้ง ลูกสงบ นอนหลับสบาย ไม่ร้องหิวระหว่างมื้อนม และน้ำหนักลูกขึ้นโดยเฉลี่ย 18-30 กรัมต่อวัน หรือ 125-210 กรัมต่อสัปดาห์

      *******************  12 สิงหาคม 2557

 



   
   


View 18    12/08/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ