รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ในอีก 10-30 ปี ประชากรสูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้น และถูกคุกคามจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง ดึงพลังอสม.ทั่วไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนามัย เร่งรณรงค์ป้องกัน เน้นการออกกำลังกาย ลดอาหารมัน เค็ม หวาน กินผักผลไม้ให้มากขึ้น เผยล่าสุดนี้คนไทยร้อยละ 90 เมินผัก และให้ อสม.ดูแลสุขภาพประเทศไทยด้วย นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพบปะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 500 คน เมื่อเที่ยงวันนี้ (5 กรกฎาคม 2550) ว่า การพัฒนาสาธารณสุขต่อจากนี้ไป จะเน้นประสานงานใกล้ชิดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานีอนามัย และอาสาสมัครสาธารณสุข ต่อไปจะขยายความร่วมมือทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน และอาจารย์ประจำโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะอสม. ถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ และสร้างความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงให้แก่วงการสาธารณสุขไทย จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ได้แก่ งานวางแผนครอบครัว ซึ่งหากไทยไม่มีอสม.ร่วมมือแก้ไขความเชื่อผิดๆ ของการคุมกำเนิด ไทยจะมีประชากรมากถึง 85 ล้านคน ไม่ใช่ 63 ล้านคนในปัจจุบัน แม้ว่าจะสูงกว่าค่าความเหมาะสมของประชากรต่อพื้นที่ ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 45 ล้านคนก็ตาม นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า ในอนาคต 10-30 ปีต่อไปนี้ คาดว่าคนไทยจะถูกคุกคามจาก 5 โรคเช่นเดียวกับทั่วโลก ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้มีประมาณร้อยละ 10 ของประชากรไทย แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลง กลายเป็นผู้พิการ หรือป่วยอัมพาต โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค และการเกิดโรคจะสะสมมาตั้งแต่วัยกลางคน หากไม่ได้รับการแก้ไขป้องกันแต่เนิ่นๆ จะเป็นภาระมาก มีรายงานว่าทั่วโลกเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะโรคเบาหวานสูงถึงปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท อสม.และท้องถิ่นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการป้องกัน เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง การป้องกันโรคเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก ที่เห็นผลดีที่สุด 2 เรื่อง คือ การออกกำลังกายและการกินอาหาร ต้องงดหรือลดอาหารเค็ม หวาน มัน และกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ผลการศึกษาขณะนี้ พบคนไทยกินผักผลไม้ในปริมาณที่พอเพียงน้อยมากเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น สำหรับการออกกำลังกายที่ได้ผลมากที่สุด มี 5 ประเภท ได้แก่ การวิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และกระโดดเชือก ซึ่งเหมาะกับเด็ก โดยมีรายงานว่า ประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาแก้ไขโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วยวิธีนี้ติดต่อกันถึง 15 ปีจึงสำเร็จ ฉะนั้นประเทศไทยก็จำเป็นต้องทำเช่นกัน แม้ว่าจะยากแต่ไม่มีอะไรที่สายเกินไป อสม. ต้องเร่งรณรงค์ปรับพฤติกรรมคนไทยเสียใหม่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปอีกว่า ได้ฝากให้ อสม. เพิ่มการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะ แหล่งน้ำขังเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งปัญหาสังคมไทย ซึ่งมีการหย่าร่างและเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น นอกจากนี้ให้ อสม.ร่วมดูสุขภาพของประเทศไทยซึ่งกำลังเผชิญกับโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมะเร็งเช่นกัน โดยโรคความดันโลหิตสูง คือการดันทุรัง ไม่ยอมอภัยให้กันและกัน โรคเบาหวานคือการพูดจาที่รุนแรง ทำให้คนในสังคมเกิดความแตกแยก ส่วนโรคมะเร็งคือการทุจริตคอรัปชั่น ขอให้อสม. 800,000 คนทั่วประเทศ ช่วยกันสอดส่อง เป็นตัวอย่างและร่วมสร้างสังคมไทยที่สงบสุข **************************5 กรกฎาคม 2550


   
   


View 9    05/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ