กระทรวงสาธารณสุข ทุ่ม 15 ล้าน ขยายบริการศูนย์กู้ชีพลงหมู่บ้าน ดึงท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ จัดหารถพยาบาล ชาวบ้านป่วยฉุกเฉินเรียกใช้บริการ 1669 ฟรีเหมือนกัน ล่าสุดมีศูนย์กู้ชีพประจำตำบลแล้ว 1,785 หน่วย ตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศภายใน 4 ปีนี้ วันนี้ (5 กรกฎาคม 2550) ที่จังหวัดจันทบุรี นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง เป็นประธานเปิดศูนย์กู้ชีพประจำตำบลเทศบาลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี พร้อมมอบป้ายศูนย์กู้ชีพระดับตำบล แก่ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมเป็นเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินนำร่องของจังหวัดจันทบุรี จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กู้ชีพประจำอบต.และเทศบาลในอำเภอสอยดาว 6 แห่ง อำเภอแก่งหางแมวและกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอละ 5 แห่ง นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีโทรศัพท์รับแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ 1669 ฟรีเบอร์เดียวทั่วประเทศ มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานกับศูนย์นเรนทรแล้ว 3,948 หน่วย โดยเป็นหน่วยบริการระดับสูงของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 968 หน่วย ระดับกลาง 1 หน่วย หน่วยบริการระดับพื้นฐาน กรณีเจ็บป่วยไม่รุนแรง ของโรงพยาบาลและมูลนิธิต่างๆ 1,194 หน่วย และหน่วยบริการระดับตำบล 1,785 หน่วย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 ถึงเมษายน 2550 ให้บริการดูแลช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยอย่างกะทันหัน และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกชนิด ที่จุดเกิดเหตุและนำส่งโรงพยาบาลกว่า 2 แสนครั้ง เฉลี่ยออกปฏิบัติการชั่วโมงละ 23 ครั้ง นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลที่ผ่านมาพบว่า ผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากโรคประจำตัวกำเริบ เช่น ช็อคจากเบาหวาน เส้นเลือดสมองแตก รองลงมาคือ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ส่วนใน หมู่บ้านยังมีน้อย เมื่อเจ็บป่วยชาวบ้านมักเหมารถมาส่งกันเอง ทำให้เสี่ยงอันตรายซ้ำซ้อนกับผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต จึงมีนโยบายเร่งขยายศูนย์กู้ชีพลงในชุมชนให้มากขึ้น อย่างน้อยให้เป็นศูนย์กู้ชีพระดับตำบล ให้อบต.ร่วมบริหารจัดการ ทั้งเรื่องคน รถพยาบาล เพราะขณะนี้ระบบการสื่อสารพัฒนาไปมากครอบคลุมถึงหมู่บ้าน ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบประมาณ 15 ล้านบาท ฝึกอบรมทักษะอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพตำบล แห่งละประมาณ 10 คน รวมกว่า 17,000 คน เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี โดยจะขยายให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศภายในปี 2554 “ในช่วงระยะนี้ หลายพื้นที่มีพายุ ฝนตกหนัก ได้สั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ เตรียมความพร้อมการรับมือภัยฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 บริการฟรี ตลอดเวลา” นายแพทย์วัลลภกล่าว ทางด้านนายแพทย์อุทัย ตันสุวรรณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีหน่วยกู้ชีพ 32 หน่วย กระจายใน 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ มีพยาบาลกู้ชีพ 317 คน อาสาสมัครที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน 492 คน รถพยาบาลฉุกเฉิน 70 คัน ในรอบ 2 ปีมานี้ ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินรวม 4,012 ครั้ง ผู้ป่วยร้อยละ 69 อยู่ในอำเภอเมือง ส่วนใหญ่ร้อยละ 73 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร โดยสามารถออกไปถึงจุดเกิดเหตุ และให้ความช่วยเหลือภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุมากถึงร้อยละ 94 แต่การทำงานในเขตชนบทมักจะมีปัญหาเรื่องเส้นทางการเข้าหมู่บ้าน ซึ่งหากมีหน่วยกู้ชีพระดับตำบลจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างดี ในปีนี้จึงมีแผนเพิ่มหน่วยกู้ชีพในตำบลเพิ่มอีก 38 แห่งใน 5 อำเภอ คาดว่าจะขยายเครือข่ายครบทุกแห่งในปี 2551 *************5 กรกฎาคม 2550


   
   


View 10    05/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ