สาธารณสุข เตรียมแผนยุทธศาสตร์ป้องกันไข้หวัดนกฉบับที่ 2 เน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก พลิกโฉมป้องกัน ไข้หวัดนก เป็นเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พบทุกปีจะเริ่มระบาดเดือนกรกฎาคม สั่งทุกพื้นที่เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
วันนี้ (5 กรกฎาคม 2550) นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง ก้าวต่อไปในแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.255-22553) มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวง สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ระดับกรม คณะทำงานวอร์รูมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 350 คน ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ
นายแพทย์สุวัจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2548-2550 ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับของนานาชาติในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันโรคไข้หวัดนกได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และยังมีการระบาดไปทั่วโลก ทำให้การกำจัดเชื้อเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดนกยังมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นเชื้อไข้หวัดนกมาสู่คนที่รุนแรงมากขึ้น จนอาจทำให้ประชาชนเสียชีวิตได้ เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ มีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก 3 ประการ ได้แก่ 1.การกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนสู่คน 2.ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคไข้หวัดนกในคน ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลอง และ 3.การเดินทางข้ามประเทศสะดวกและรวดเร็วทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) มี 4 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1.การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก 2.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ 3.การเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ และ 4.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศ
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกทั่วโลกว่า สถานการณ์การระบาดจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ขยายไปใน 58 ประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยรวม 317 ราย เสียชีวิต 191 ราย สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ เดือนมกราคม - มิถุนายน 2550 ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายใหม่ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมาจะพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ในปีนี้จึงได้เตรียมความพร้อมโดยเรียกประชุม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ระดับกรม คณะทำงานวอร์รูมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในเดือนกรกฎาคมเป็นพิเศษ
สำหรับมาตรการสำคัญ ที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) 2.เตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก 3.การพึ่งพาตนเองทางด้านยาและวัคซีนของประเทศ และ 4.การเพิ่มปริมาณการสำรองเวชภัณฑ์
ทางด้านนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขว่า 1.การเฝ้าระวัง ป้องกันและสอบสวนโรค เน้นสร้างความเข้มแข็งให้ทีมสอบสวนโรค สำหรับประชาชน เน้นในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกัน ควบคุมโรคทางเดินหายใจด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เมื่อป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด นอกจากนี้ ยังเพิ่มแนวทางการป้องกันโรคโดยไม่ใช้ยา เช่น มาตรการปิดโรงเรียน สถานที่สาธารณะ จำกัดการเดินทาง รวมถึงการเตรียมมาตรการทางกฎหมาย เมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างรุนแรง 2.มีการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ให้มีศักยภาพสูงขึ้น แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จะได้รับการอบรมให้สามารถปฏิบัติงานได้ ตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และเร่งรัดให้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ จัดทำห้องแยกผู้ป่วยทางเดินหายใจ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งมีหลายรูปแบบ
3.สำหรับการเตรียมวัคซีนและยาป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สร้างโรงงานวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 1 แห่ง ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมดกว่า 1,400 ล้านบาท เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ก็จะทำการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เกิดตามปกติไปก่อน โดยมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้รับผิดชอบการสร้างโรงงาน ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างและเริ่มผลิตได้ภายในปี 2555 โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตวัคซีนปีละ 10 ล้านโดส แต่จะผลิตปีละ 2 ล้านโดส หากมีความต้องการเพิ่มขึ้นจะขยายกำลังผลิต และหากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะดำเนินการปรับปรุงเทคโนโลยีและกำลังการผลิต ให้เพียงพอสำหรับประชาชนไทยทั้งประเทศ และ 4.มีการเพิ่มการสำรองเวชภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นในแผนฯ ฉบับที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันมีการสำรองเวชภัณฑ์น้อยเกินไป ไม่สามารถรองรับสถานการณ์การระบาดใหญ่ได้
******************************5 กรกฎาคม 2550
View 10
05/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ