กระทรวงสาธารณสุข เผยรัฐบาลกัมพูชาส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากไทย ให้ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศกัมพูชา ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต พบผู้ป่วยเกือบ 10,000 ราย ตาย 132 ราย หมอมงคลรับคำสั่งนายกรัฐมนตรี เดินทางพร้อมปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำความช่วยเหลือไปมอบด้วยตนเอง 5 กรกฎาคมนี้ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า รัฐบาลประเทศกัมพูชาได้ส่งหนังสือผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศกัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มวิกฤตมากขึ้น เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝนและมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก ประกอบกับประชาชนเองยังไม่มีความรู้ในการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกของกัมพูชาจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเดือนเมษายน 2550 พบผู้ป่วย 1,914 ราย เดือนพฤษภาคม เพิ่มเป็น 5,205 ล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมากถึง 9,646 ราย เสียชีวิต 132 ราย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า โดยพบผู้ป่วยกระจายใน 10 จังหวัด ได้แก่ กำปงจาม (Kampong Cham) 1,581 ราย เก็นดาล (Kendal) 1,518 ราย เสียมเรียบ (Siem Reap) 1,257 ราย กำปงสเปย (Kampong Speu) 861 ราย ตาแกว (Takeo) 716 ราย เปรยเว็ง (Prey Veng) 636 ราย บันเตียนเมียนเจย (B.Meanchey) 600 ราย กัมปงธม (Kampong Thom) 424 ราย และกัมปอต (Kampot) 415 ราย นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า การขอความช่วยเหลือของประเทศกัมพูชา เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือในการเฝ้าระวังควบคุมโรคกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการด้านความช่วยเหลือทันที โดยเป็นความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย ทรายฆ่าลูกน้ำยุงลาย 25,000 กิโลกรัม สารเคมีพ่นฆ่าตัวแก่ยุงลาย 2,700 ลิตร เครื่องพ่นหมอกควันสะพายไหล่ 20 เครื่อง สารน้ำทดแทนสำหรับให้ทางหลอดเลือด 10,000 ถุง และเข็มให้น้ำเกลือสำหรับเด็ก 20,000 ชิ้น สำหรับความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุขจะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญ ไปอบรมเสริมความรู้แก่แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ของประเทศกัมพูชา เกี่ยวกับการจัดการผู้ป่วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว การควบคุมปัจจัยการเกิดโรค และระบบการสอบสวนโรค ตลอดจนการติดตามและประเมินผล ทั้งนี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะนำทีมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งนำสิ่งสนับสนุนต่างๆ ไปมอบให้กับรัฐบาลประเทศกัมพูชาด้วยตนเอง โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศไทย ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 นี้ ************************************** 4 กรกฎาคม 2550


   
   


View 10    04/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ