ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยขณะนี้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้ว 34 ศูนย์ ทั่วประเทศ นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนและซื้อบัตรประกันสุขภาพแล้วกว่า 110,000 คน ส่วนใหญ่ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติ  เร่งรณรงค์ให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาตรวจสุขภาพให้ครบถ้วน  

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสุขภาพและออกบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ         จุดเดียว(One Stop Service) เพื่อลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวเมียนมาร์และกัมพูชาได้รับบริการตรวจสุขภาพเร็วขึ้นและทำบัตรประกันสุขภาพเข้าสู่ระบบบริการทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และคงประสิทธิภาพระบบควบคุมป้องกันโรคของไทย   

ขณะนี้ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียวทั่วประเทศทั้งหมด 34 ศูนย์  โดยอยู่ต่างจังหวัด  28 ศูนย์ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สุราษฎร์ธานี  สระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ กระบี่ สตูล ปัตตานี  ชุมพร เป็นต้น และในกรุงเทพ 6 ศูนย์ เช่นที่ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เป็นต้น            ซึ่งเปิดให้บริการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15กรกฎาคม 14 สิงหาคม 2557 เวลา 08.00-16.00 น. ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนวันละ 5,000-6,000 คน

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ผลดำเนินการตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพแล้วกว่า  1 แสนบัตร  และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยในต่างจังหวัดขายไปแล้วประมาณ 70,000 บัตร เช่นที่สมุทรสาคร 30,000 บัตร ชลบุรี 10,000 บัตร ระยอง 6,000 บัตร  สมุทรปราการ 7,200 บัตร  เร่งรณรงค์ให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาตรวจสุขภาพให้ครบ  

ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับลดค่าตรวจสุขภาพเหลือ 500 บาท และปรับลดบัตรประกันสุขภาพแต่สิทธิประโยชน์เท่าเดิม  ส่วนเด็กที่ติดตามผู้ปกครองมาและอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพคนละ 365 บาท คุ้มครอง 1 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ 

ทางด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน  กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจร โดยทุกคนจะต้องผ่านการเอ็กซเรย์ปอด  เพื่อค้นหาโรควัณโรค  เจาะเลือดหาซิฟิลิส เชื้อโรคพยาธิเท้าช้าง ตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีน ผู้หญิงต้องเก็บปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจสภาวะโรคเรื้อน ผลการตรวจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือผู้ที่มีผลการตรวจสุขภาพปกติ  ประเภทที่ 2 คือผ่านการตรวจสุขภาพ แต่มีภาวะติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องควบคุม ได้แก่วัณโรค โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง ซิฟิลิส และโรคพยาธิลำไส้ ให้ทำการรักษาต่อเนื่อง จนตรวจไม่พบเชื้อ และประเภทที่ 3 คือผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ  เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือเป็นโรคต้องห้ามทำงาน 7 โรค  ได้แก่ 1. วัณโรคระยะติดต่อ 2. โรคเรื้อนระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม 3. โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ 4. โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ปรากฏอาการ                5. ติดสารเสพติดให้โทษ 6.พิษสุราเรื้อรัง และ 7. โรคจิต จิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อน  ผลการตรวจที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ ต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จะมีผลตั้งแต่วันที่ซื้อบัตร หากเจ็บป่วยทั้งจากโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน  สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ระบุในบัตร                    

                                                                                              ********************         23  กรกฎาคม 2557



   
   


View 34    23/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ