รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายให้กว่า 60,000 ตำบลทั่วไทย จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ โดยให้อสม. เป็นผู้ประสานหลักร่วมผลักดัน เพื่อให้เป็นแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนที่ตรงจุด ทั้งเรื่องการควบคุมป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน นำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ แห่งแรกในประเทศ
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2550) ที่ศาลาประชาคม จ.สมุทรปราการ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง เปิดประชุมอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรเครือข่ายและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ 50 ตำบล จังหวัดสมุทรปราการ รวม 1,400 คน ในการดำเนินงานพัฒนาตำบลต้นแบบในการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และนายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวต้อนรับ
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชน ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 25502554) โดยปรับบทบาทจากอดีต ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และแกนนำครอบครัว เป็นหลักในการดูแลสุขภาพคนในครอบครัว มาเป็นให้ประชาชนทุกคนมีบทบาทดูแลสุขภาพของตนเอง ลดการพึ่งพาผู้อื่น เพราะประชาชนคือเจ้าของสุขภาพตัวจริง รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ ให้เป็นหมู่บ้านสร้างสุขภาพ ประชาชนมีสุขภาพดีทุกคน โดยให้อสม. แกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน สอดคล้อง ตาม ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนพึ่งตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกระดับ
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีหมู่บ้านที่มีแผนพัฒนาสุขภาพแล้ว 28,803 หมู่บ้าน หรือ ร้อยละ 48 จากหมู่บ้านทั้งหมดกว่า 60,000 หมู่บ้าน จะเร่งดำเนินการให้ครบทั้งหมด ภายใน พ.ศ. 2554 โดยได้มอบนโยบายให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เป็นกำลังหลัก ในการประสานงานร่วมกับชุมชน หมู่บ้านและตำบล จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนแต่ละพื้นที่ โดยจะนำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการทุกชุมชนแห่งแรกในประเทศ
ที่ผ่านมาแผนที่ชุมชนคิด มักเป็นแผนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เน้นเรื่องปากท้อง ส่วนเรื่องสุขภาพยังทำน้อยมาก แผนสุขภาพส่วนใหญ่จะมาจากส่วนกลาง เปรียบเสมือนการตัดเสื้อโหลให้ใส่ จึงแก้ไขปัญหาได้ในระดับกว้าง บางเรื่องอาจไม่ใช่ปัญหาของพื้นที่ก็ได้ ดังนั้นหากชุมชนซึ่งรู้ปัญหาดี มีแผนแก้ไขเป็นของชุมชนเอง ก็จะสามารถขจัดปัญหาได้รวดเร็ว ต่อเนื่องและยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข เพราะหากทุกคนมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ย่อมมีความพร้อมที่จะพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ นายแพทย์วัลลภ กล่าว
ด้านนายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมมาก ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ได้เริ่มจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพตำบล โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่พ.ศ. 2549 เริ่มแรก 15 ตำบล พบว่าได้ผลดีมาก ในปี 2550 นี้ จะดำเนินการต่อเนื่องใน 12 ตำบล 92 หมู่บ้าน และขยายให้ครอบคลุมทุกตำบลในระยะต่อไป
*********************************** 4 กรกฎาคม2550
View 11
04/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ