จากกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้ตัดสินคดีอุทธรณ์สั่งให้โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น จ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวเด็กที่อายุ 2 ปี ที่ได้รับผลกระทบระหว่างคลอด เมื่อพ.ศ. 2555 เมื่อวานนี้ (15 กรกฎาคม 2557) และส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ พยาบาลที่ปฏิบัติงาน นั้น

          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว บ่ายวันนี้ (16 กรกฎาคม 2557) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นขณะคลอด ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น  โดยกระทรวงสาธารณสุข จะให้การดูแลทั้งผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และจะส่งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้ง ขอให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มกำลังต่อไป

          นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2555 โดยผู้เสียหายตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ได้ฝากครรภ์ และมาคลอดที่โรงพยาบาลน้ำพองเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 พยาบาลประจำห้องคลอดได้ทำคลอดให้ผู้เสียหาย ระหว่างคลอดมีปัญหาติดไหล่ พยาบาลผู้ทำคลอดได้แจ้งแพทย์เวรและกุมารแพทย์ ซึ่งแพทย์เวรได้รีบมาช่วยทำคลอดไหล่ทันทีตามท่ามาตรฐานทำคลอดเด็กติดไหล่ หลังคลอดเด็กปกติ น้ำหนักแรกเกิด 3,580 กรัม โดยกุมารแพทย์ตรวจพบเด็กมีปัญหาแขนขวาไม่ขยับ ได้พูดคุยอธิบายให้ญาติถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เด็กคลอดติดไหล่ ซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนเส้นประสาท เกิดปัญหาอย่างชั่วคราวหรือถาวร  และได้ให้ศัลยแพทย์ด้านกระดูกมาร่วมให้การรักษาด้วย โดยโรงพยาบาลน้ำพองได้ส่งพยาบาลชุมชนที่มีประจำทุกตำบลไปดูแลผู้เสียหายและบุตรที่บ้านเป็นระยะ รวมทั้งจัดรถรับส่งเมื่อต้องไปตรวจรักษาที่รพ.น้ำพองและรพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ระหว่างนั้นได้ทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 และได้นำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุข

          อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายได้ตัดสินใจยื่นฟ้องโรงพยาบาลน้ำพอง ระหว่างรอการตัดสินของศาลชั้นต้นได้ขอรับการชดเชยตามมาตรา 41 ซึ่งโรงพยาบาลได้ดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้โรงพยาบาลแพ้คดีและชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสูตินรีแพทย์ 3 ท่านจากโรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นพยาน ซึ่งทั้ง 3 ท่านลงความเห็นตรงกันว่า พยาบาลและแพทย์ได้ให้การรักษาถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อช่วยชีวิตแม่และเด็ก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้อุทธรณ์คำพิพากษา เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุดแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

          นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล รู้สึกเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลกระทบในวงกว้าง กระทรวงสาธารณสุข จึงตัดสินใจส่งเรื่องเข้าสู่การตัดสินของศาลฎีกาเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้ง และเรียกขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนกลับคืนมา เพื่อให้มีกำลังใจในการดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต่อไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ยังขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกลอีกเป็นจำนวนมาก

****************************** 16 กรกฎาคม 2557



   
   


View 9    17/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ