กระทรวงสาธารณสุข เร่งวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธ์แห่งชาติ ส่งเสริม สนับสนุนให้หญิงไทยตั้งครรภ์ที่มีการวางแผนและอยู่ในวัยที่เหมาะสม เพื่อให้กำเนิดเด็กไทยยุคใหม่ที่มีคุณภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หลังพบแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านท้อง แต่คลอดเป็นทารกมีชีวิตเพียง 8 แสนราย สะท้อนว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการทำแท้งหรือแท้งเอง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม 
          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมทุกปี เป็นวันประชากรโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทั่วโลก ที่มีประชากร 7,137 ล้านคน ตระหนักและ      ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาของประชากร ในปีนี้ได้มุ่งเน้นให้เป็นปีแห่งการลงทุนในเยาวชน ให้ได้รับการคุ้มครอง เติบโตเป็นผู้ใหญ่และใช้ศักยภาพในการดำเนินชีวิตตามที่ตั้งใจได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากในโครงสร้างประชากรในอนาคต เด็กและวัยรุ่นจะกลายเป็นวัยทำงานและรับผิดชอบการพัฒนาประเทศ 
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันจำนวนวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากกรมการปกครอง 31 ธันวาคม 2556 ไทยมีประชากร 64.8 ล้านคน ในขณะที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดประมาณประชากรกลางปี 2557 ไทยมีประชากรทั้งหมด 64.9 ล้านคน และอัตราเพิ่มของประชากรลดลงเหลือร้อยละ 0.4 จากที่เคยสูงอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี อัตราการเกิดจากหลักล้านคนต่อปี ลดลงมาอยู่ที่ 7-8 แสนคนต่อปี สาเหตุเกิดจากประชาชนเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง คนที่แต่งานแล้ว มีลูกจำนวนน้อย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการทำแท้ง เนื่องจากแม่ไม่มีความพร้อม คาดว่าแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านท้อง แต่คลอดเป็นทารกมีชีวิตเพียง 8 แสนราย
          “เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเด็กไทยขณะนี้ มีปัญหาด้านคุณภาพสติปัญญาและการพัฒนาการ โดยเฉพาะปัญหาไอคิวที่ลดลงจาก 91 เป็น 88 จุดในช่วงปี 2540-2552 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 90-110 เด็กอายุ 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 เหลือร้อยละ 67 ผลสำรวจระดับเชาว์ปัญญาของนักเรียนไทยทั่วประเทศ ของกรมสุขภาพจิต ในปี 2554 พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.59 จุด ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ มีนักเรียนเกือบร้อยละ 50 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และมีนักเรียนอีกร้อยละ 7 มีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง ในขณะที่มาตรฐานสากลไม่ควรมีเกินร้อยละ 2 นอกจากนี้ยังพบมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงขึ้น เช่น การติดยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ และการออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”นายแพทย์ณรงค์กล่าว
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เด็กไทยรุ่นใหม่ที่จะเกิดมา มีคุณภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ กระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนพัฒนาคุณภาพประชากรไทย เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิต่อเนื่องไปจนถึงวัยสูงอายุได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพและอนามัยการตามกลุ่มอายุของประชากร ดังนี้ 1.ในเด็กอายุ 0-5 ปีและสตรี จะเน้นที่การเพิ่มคุณภาพการฝากครรภ์โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ จัดระบบตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด
เพื่อให้เกิดมาอย่างมีคุณภาพ 2.กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี จะพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพดีติดตัวจนถึงวัยผู้ใหญ่ พัฒนาตำบลไอคิวดีอีคิวเด่น ชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาที่สมวัย 
          3.กลุ่มเด็กวัยรุ่นและเยาวชน จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น มีระบบส่งต่อเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานพยาบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน โดยจัดให้มีการสอนเรื่องเพศในครอบครัว ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร 4.กลุ่มวัยทำงาน จะพัฒนาการดูแลป้องกันโรคจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ สร้างองค์กรไร้พุง สถานประกอบการปลอดโรค ชุมชนลดเสี่ยงลดโรคและตำบลจัดการสุขภาพ และ5.กลุ่มผู้สูงอายุ จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการและชุมชน
          ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้มีการตั้งครรภ์ที่มีการวางแผนความพร้อม มีความตั้งใจ อยู่ในวัยอันควร และให้กำเนิดเด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรมอนามัย กำลังจัดทำร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธ์แห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2558-2562 มี 6 ยุทธศาสตร์คือ การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ การสร้าง และส่งเสริมชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง การปรับระบบบริการสุขภาพและสังคม การพัฒนากฎหมายและกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านองค์ความรู้
          สำหรับการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ จะมีแผนดำเนินการหลายด้าน เช่น ส่งเสริมให้บิดามารดา ได้รับบริการปรึกษาและเตรียมความพร้อมการมีบุตร อย่างมีคุณภาพและทันเวลา การเพิ่มคุณภาพงานฝากครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีครรภ์เสี่ยง มีระบบดูแล คัดกรอง ส่งต่อ และติดตามดูแลเด็กและให้คำปรึกษามารดา และผู้เลี้ยงอย่างเป็นระบบ ส่วนการส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะส่งเสริมกิจกรรมหลักสูตรเพิ่มทักษะในชีวิต พฤติกรรมอนามัยเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม สร้างเสริมทัศนคติ การมีครอบครัวเมื่อพร้อม ให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่นเข้มแข็ง บุตรได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ให้ความรู้แก่ครอบครัวลักษณะพิเศษ เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เร่ร่อน ให้ดำรงอยู่ได้ ส่วนพ่อแม่วัยรุ่น จะการจัดการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบให้พ่อแม่วัยรุ่นสามารถกลับมาเรียนต่อได้ และจัดระบบบริการให้สมารถเข้าถึงได้
                           ********************** 11 กรกฏาคม 2557


   
   


View 18    11/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ