กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศลดอัตราค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเหลือ 500 บาท และออกแบบการประกันสุขภาพ 3 แบบ คืออายุ 3 เดือนราคา 500 บาท อายุ 6 เดือนราคา 900 บาท และอายุ 1 ปีราคา 1,600 บาท ส่วนเด็กต่ำกว่า 7 ปี ราคาเดียว 365 บาทคุ้มครอง 1 ปี แรงงานและผู้ติดตามเลือกซื้อตามความเหมาะสม  เผยผลตรวจสุขภาพต่างด้าววันแรกที่จ.สมุทรสาคร 1,988 คน  พบโรคต้องห้ามน้อยมากเพียง 2 ราย พร้อขยายผล 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557

          นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวทางการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว และผู้ติดตาม ตามนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่ผ่อนปรนให้กระทรวงมหาดไทยออกบัตรประจำตัวชั่วคราว อายุ 60 วัน ว่า จากการเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว หรือ อกนร. ซึ่งมีเสนาธิการทหารเป็นประธาน และกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ได้ข้อยุติว่า เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขในการที่ คสช. มีนโยบายให้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายได้มาจดทะเบียนแรงงานได้มากที่สุด เป็นการผ่อนผันชั่วคราว 2 เดือน และจะได้กลับไปทำการพิสูจน์สัญชาติหรือทำพาสปอร์ตแล้วกลับเข้ามาเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป ระหว่างนี้ จะต้องมีการออกใบอนุญาตการทำงานชั่วคราว ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว

          นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ฉบับแรก ออกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สัญชาติลาว กัมพูชา พม่า และผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทย ลดอัตราค่าตรวจสุขภาพเหลือ 500 บาท และประกันสุขภาพ 1,600 บาท อายุคุ้มครอง 1 ปี ส่วนเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี ราคา 365 บาท  และออกประกาศฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เป็นฉบับเพิ่มเติมกรณีที่คสช.เปิดเงื่อนไขให้อยู่ชั่วคราว 60 วัน โดยกำหนดอัตราค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพมีให้เลือก 2 แบบเพิ่มเติม คืออายุคุ้มครอง 3 เดือนราคา 500 บาท เพื่อไม่เป็นภาระกับแรงงานที่มาประกันตน และอายุ 6 เดือนในราคา 900 บาท เพื่อให้แรงงานมีประกันสุขภาพครอบคลุมในระหว่างรับการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อกลับมาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.แรงงานที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 90 วันหลังขึ้นทะเบียนแรงงาน จึงจะ    มีสิทธิ์รักษาพยาบาลของประกันสังคม และ2.ผู้ที่ไม่เข้าตามพ.ร.บ.ประกันสังคม เช่นทำงานรับใช้ตามบ้าน ฟาร์มเกษตรกรรม แรงงานประมง จะต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพแบบ 1 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข 

          ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตามสมุทรสาครโมเดลที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเริ่มดำเนินการเป็นจังหวัดแรกวานนี้ (30 มิถุนายน 2557) มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียน 2,020 คน ได้รับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 1,988 คน พบโรคต้องห้ามในการทำงานต้องส่งกลับประเทศ เช่น ซิฟิลิสระยะที่ 3 วัณโรคระยะแพร่เชื้อ สารเสพติด จิตฟั่นเฟือน จำนวน 2 ราย นับว่ามีจำนวนน้อยมาก ซึ่งในภาพรวมของประเทศพบอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.01 เช่นกัน โดยในการตรวจสุขภาพ จะทราบผลเอกซเรย์ปอดและการตรวจปัสสาวะ ภายใน 1 วัน ส่วนการตรวจเลือดจะทราบผลภายใน 3 วัน                                                                                          

          นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า ในการประชุมวันนี้ ได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมการรองรับ โดยเฉพาะจังหวัดที่จะมีแรงงานจำนวนมาก เช่น ตาก กทม. ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 จะเริ่มดำเนินการต่อเนื่องใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล และครอบคลุมทุกจังหวัดภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2557 

          นายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้บูรณาการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งมหาดไทย สาธารณสุข และแรงงงาน เป็นวันสตอป เซอร์วิส แรงงานจะได้รับบัตรภายใน 1 วัน โดยลดขั้นตอนการทำงานให้เร็วขึ้น จากรายละ 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1.ฝ่ายปกครองลงทะเบียน พิมพ์ลายนิ้วมือ และถ่ายรูป  2.เก็บค่าบริการ 3.ซักประวัติ วัดความดันโลหิต 4.เจาะเลือด พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอด และ5.รับบัตร ในช่วงเช้าวันนี้ ได้รับรายงานมีต่างด้าวมาลงทะเบียนประมาณ 1,000 คน โดยจังหวัดสมุทรสาครเปิดบริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งเป้าหมายให้ได้ 1 แสนคนภายใน 1 เดือน

          ทางด้านนายแพทย์โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบาย คสช. คือ “โปร่งใส ลดขั้นตอน และประหยัดเงิน” จากเดิมที่มีค่าใช้จ่าย 5,800 บาท เหลือ 1,305 บาท ซึ่งเป็นการเอื้อให้แรงงานได้รับการขึ้นทะเบียนง่ายขึ้น เพื่อนำแรงงานทุกคนมาขึ้นทะเบียนให้หมด ซึ่งที่จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานจำนวนมาก หากไม่เร่งดำเนินการอาจใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน สำหรับปัญหาอุปสรรคที่พบ ได้แก่ การบันทึกข้อมูล เช่นชื่อ สกุล ต้องบันทึกในภาษาอังกฤษด้วย บางรายไม่มีหลักฐานแสดงวันเดือนปีเกิด ทำให้ไม่ทราบอายุที่แน่ชัด  แต่ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด     

 ************************************      1 กรกฎาคม 2557



   
   


View 13    03/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ